Header Ads

 


พังงา-ดราม่าหนัก วัฒนธรรมประกาศ "1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น" คนพังงาสุดงงไม่รู้จักเมนูที่ได้รับเลือก “อาจาดหู”




 พังงา-ดราม่าหนัก วัฒนธรรมประกาศ "1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น" คนพังงาสุดงงไม่รู้จักเมนูที่ได้รับเลือก “อาจาดหู”

    เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ประกาศผลการคัดเลือกกิจกรรม "1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น ประจำปีงบประมาณ 2566" ก็ได้มีกระแสดรามาถึงผลการคัดเลือกของแต่ละจังหวัด ที่เต็มไปด้วยคำถามและเสียงวิจารณ์ จากประชาชนในพื้นที่ว่า ทำไมในบางเมนู ถึงได้รับการคัดเลือกขึ้นมาหรือบางเมนู คนในท้องถิ่นคนในจังหวัดหลายคน ยังไม่รู้จักและไม่เคยได้ยินด้วยซ้ำ 

    สำหรับของจังหวัดพังงา เมนูที่ได้รับเลือกคือ “อาจาดหู”ก็มีกระแสดรามาไม่ต่างไปจากจังหวัดอื่นๆ โดยหลังจากมีการนำผลการคัดเลือกออกเผยแพร่ ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ตั้งข้อสงสัยในสื่อสังคมออนไลน์กันไปต่างๆนาๆว่า “อาจาดหู”คืออะไร บอกว่าตั้งเกิดมาจนแก่ยังไม่เคยเห็นและไม่เคยรู้จัก และทำไมถึงไม่เลือกเมนูอาหารประจำถิ่นที่ขึ้นชื่อและรู้จักกันอย่างแพร่หลายในพื้นที่  ผู้สื่อข่าวจึงเดินทางไปที่ ร้านเจ๊น้อง J’Nong Recipe อยู่ที่ ต.กะไหล อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ซึ่งเป็นเจ้าของเมนู “อาจาดหู”ที่ส่งเข้าประกวดและได้รับคัดเลือก ซึ่งคุณวารุณี สงวนนาม หรือเจ้น้อง ได้ให้ข้อมูลพร้อมกับโชว์วิธีการทำเมนูอาจาดหู ให้ผู้สื่อข่าวได้เห็นและได้ลิ้มรส โดยวัตถุดิบหลักประกอบด้วย ปลากระบอก กระเทียม ขิง ขมิ้นชัน พริกชี้ฟ้า งาขาวน้ำส้มสายชู เกลือ น้ำตาล วิธีทำเริ่มจากนำปลาคลุกขมิ้นลงทอดในน้ำมันให้สุกแบบกรอบนอกนุ่มใน พักค้างไว้ในจาน จากนั้นนำสมุนไพร กระเทียม ขิงซอย ขิงสลักดอก ขมิ้นชัน พริกชี้ฟ้า ผัดน้ำมันในกระทะ ผสมน้ำเปล่า น้ำส้มสายชู เกลือ น้ำตาล ตามรสชาดที่ชอบ ใช้ไฟกลางแล้วไฟอ่อน เคี่ยวให้เริ่มข้น จนเป็นน้ำอาจาดสมุนไพร จากนั้นมาราดกับปลาที่ทอดสุก พร้อมเสิร์ฟให้ได้ลองลิ้มชิมรส ซึ่งเป็นเมนูที่แปลกดี คล้ายๆเมนูปลาเจี๋ยน แต่อุดมไปด้วยสมุนไพร รสชาติจัดจ้าน เปรี้ยวหวานมันเค็มเข้ากันอย่างลงตัว

    คุณวารุณี สงวนนาม หรือเจ๊น้อง เปิดเผยว่า ได้รับการติดต่อจากสภาวัฒนธรรมจังหวัดพังงา ให้จัดทำเมนูอาหารส่งเข้าประกวดโดยมีโจทย์ว่า อาหารที่หาทานยากแล้วก็หายไป และรสชาติที่หายไป ทางร้านจึงได้เลือกเมนู “อาจาดหู”ที่เป็นอาหารที่ชุมชนกะไหลทำกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษแล้วก็ถ่ายทอดสืบต่อกันมาให้ลูกหลาน ว่ากันว่ามีที่มาเจ้าเมืองพังงาไปตีหัวเมืองไทรบุรีแล้วก็กวาดต้นเชลยมา ทีนี้เชลยเหล่านั้นก็ทำอาหารทานกัน เราก็เลยได้รับวัฒนธรรมตรงนั้นมาด้วย คำว่าอาจาดก็คือผักดอง ส่วนคำว่าหูหรือหื้อก็คือปลา วัตถุดิบที่สำคัญนอกจากปลากระบอกจากทะเลอ่าวพังงาแล้ว ยังใช้สมุนไพรขมิ้นชันและขิงจากบ้านเขาตำหนอน อ.ทับปุด สำหรับกระแสดรามานั้น พร้อมยอมรับคำวิจารณ์ต่างๆ เนื่องจากเมนูอาหาร ไม่รู้จักคุ้นเคยของคนทั่วไป แต่ก็รู้สึกดีใจที่ได้นำอาหารจานที่คนบอกว่าไม่เคยรู้จักไม่เคยได้ยินไม่เคยเห็นมาเพื่อที่จะให้ทุกคนได้รู้ได้เห็นได้สัมผัสได้ชิมกัน ร้านเจ๊น้อง กะไหล เป็นร้าอาหารพื้นเมืองพังงาและก็ยังมีอาหารอีกหลากหลายชนิดที่เริ่มหายไป เจ๊น้องจะตามกลับมา แล้วก็เอามาเชิดชูเป็นอาหารถิ่นของพังงาต่อไป

    ทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพังงา ได้ชี้แจงว่า กิจกรรม "1จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น" ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) "รสชาติ...ที่หายไปThe lost Taste" ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ของอหารไทย อาหารท้องถิ่น ที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตคนไทย รวมถึงการรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศ รวมทั้งเสนอสาระความรู้เกี่ยวกับอาหารไทยและอาหารถิ่น ต่อยอดสมุนไพรไทย สรรพคุณทางเลือกและส่งต่อภูมิปัญญาที่มีการสืบทอดรุ่นสู่รุ่น อีกทั้งเป็นการส่งเสริมศักยภาพทางเครือข่ายวัฒนธรรมในการบริหารจัดการงานวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานมรดกภูมิปัญญา ทางวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยหลักเกณฑ์เมนูอาหารที่ได้รับคัดเลือกจะต้องเป็นเมนูอาหารไทย อาหารท้องถิ่น หรืออาหารพื้นบ้าน ที่ใกล้สูญหายหรือสูญแล้วต้องเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ มีสรรพคุณทางเลือก และส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์

อโนทัย งานดี/พังงา/081-0836530








ขับเคลื่อนโดย Blogger.