Header Ads

 


พิจิตร-การเรียกหลักประกันการทำงานของเจ้าหน้าที่สหกรณ์ตามกฎหมายแรงงาน

 


การเรียกหลักประกันการทำงานของเจ้าหน้าที่สหกรณ์ตามกฎหมายแรงงาน

 

เหตุผลและความจำเป็นของการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงาน

 

สหกรณ์ถือเป็นนิติบุคลที่ให้บริการทางด้านการเงินแก่สมาชิก ไม่ว่าจะเป็นการรับฝากเงิน การกู้ยืมเงิน โดยถือว่าสมาชิกเป็นเจ้าของสหกรณ์ โดยมีเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์คอยให้บริการด้านการเงินต่าง ๆ แก่สมาชิก อีกด้านหนึ่งสหกรณ์ผู้เป็นนายจ้างย่อมมีความเสี่ยงที่เจ้าหน้าสหกรณ์ในฐานะลูกจ้างจะกระทำละเมิดจากการทำงานไม่ว่าจะเป็นการยักยอกหรือการลักทรัพย์ ทำให้สหกรณ์ผู้เป็นนายจ้างเกิดความเสียหาย ดังนี้ การเรียกรับหลักประกันการทำงานของเจ้าหน้าที่สหกรณ์จึงเป็นหลักประกันในการชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างอาจกระทำต่อสหกรณ์นายจ้าง

อย่างไรก็ตาม แม้สหกรณ์ผู้เป็นนายจ้างจะสามารถเรียกรับหลักประกันการทำงานจากเจ้าหน้าที่สหกรณ์ได้ แต่การเรียกรับหลักประกันการทำงานก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานด้วย โดยมีข้อกำหนดห้ามไม่ให้นายจ้างเรียกหลักประกันการทำงานและหลักประกันความเสียหายจากการทำงาน ไม่ว่าจะประกันด้วยเงิน ประกันด้วยบุคคลหรือประกันด้วยทรัพย์ เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานที่ทำนั้น ลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้ ทั้งนี้ ลักษณะหรือสภาพของงานที่ให้เรียกหรือรับเงินประกันจากลูกจ้างได้ ตลอดจนจำนวนเงินและวิธีการเก็บรักษา ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายจากการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ. 2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นมา โดยสาระสำคัญของการเรียกรับหลักประกันการทำงาน มีดังต่อไปนี้

ลักษณะงานที่สามารถเรียกหลักประกันการทำงานได้

ได้แก่ งานที่เกี่ยวกับการควบคุม การรับ-จ่ายเงิน ดูแลบัญชีของสหกรณ์ เช่น  ผู้จัดการ เจ้าหน้าที่การเงิน เจ้าหน้าที่บัญชี เจ้าหน้าที่สินเชื่อ โดยมีหน้าที่รับ-จ่ายเงินให้แก่สมาชิกสหกรณ์ หรือเก็บรักษาเงินของสหกรณ์ รวมถึงงานที่เกี่ยวกับคลังสินค้า หรือทรัพย์สินของสหกรณ์ เช่น เจ้าหน้าที่การตลาด เจ้าหน้าที่ควบคุมคลังสินค้าของสหกรณ์ เป็นต้น

ทั้งนี้ หากเป็นงานที่มีลักษณะนอกเหนือจากที่กล่าวมาในข้างต้น สหกรณ์ผู้เป็นนายจ้างไม่สามารถเรียกรับหลักประกันการทำงานจากเจ้าหน้าที่สหกรณ์ได้

ประเภทของหลักประกันการทำงาน

ได้แก่ เงินสด บุคคล หรือทรัพย์สิน อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างก็ได้ ทั้งนี้ กรณีที่สหกรณ์เรียกรับหลักประกันเป็นทรัพย์สินนั้น ลักษณะของทรัพย์สิน ได้แก่ 1. สมุดเงินฝากประจำของธนาคาร 2. หนังสือค้ำประกันของธนาคาร เท่านั้น หากนำเอาสังหาริมทรัพย์มาเป็นหลักประกัน เช่น ทองคำ รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ หรืออสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้เป็นทรัพย์สินที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันการทำงานได้ ดังนี้ หากนำมาเป็นหลักประกันจะมีผลให้หลักประกันดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะ คือ ถือได้ว่าไม่มีหลักประกันการทำงาน

ความจำกัดความรับผิดของหลักประกันการทำงาน

ไม่ว่าหลักประกันการทำงานจะเป็นทรัพย์สิน หรือ บุคคลค้ำประกัน จะต้องระบุวงเงินความรับผิดไว้อย่างชัดเจน แต่ต้องไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่เจ้าหน้าที่สหกรณ์ได้รับ

การฝ่าฝืนและความรับผิดของการเรียกรับหลักประกันการทำงาน

ข้อตกลงใดที่ขัดต่อประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายจากการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ. 2551 มีผลเป็นโมฆะ และถือได้ว่าไม่มีหลักประกันดังกล่าว รวมทั้งคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ก็จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 144 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ด้วย

กรณีตัวอย่างของการเรียกหลักประกันการทำงาน

1. กรณีเรียกหลักประกันการทำงานก่อนและกระทำการละเมิดต่อสหกรณ์ก่อนที่ประกาศกระทรวงแรงงานบังคับใช้ วันที่ 4 กรกฎาคม 2551 เช่น นายจ้างเรียกหลักประกันการทำงานโดยใช้ทรัพย์สิน เงินสด หรือบุคคลค้ำประกัน และได้ระบุวงเงินความรับผิดไว้เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่เจ้าหน้าที่ได้รับ หรือมีข้อตกลงให้ผู้ค้ำประกัน      รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับสหกรณ์ ต่อมาหากเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อสหกรณ์ง ผลคือ สหกรณ์จะมีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้เต็มจำนวนตามสัญญาค้ำประกัน และมีผลให้ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมได้ เนื่องจากได้เรียกรับประกันการทำงานและมีการกระทำละเมิดต่อสหกรณ์ก่อนวันที่ประกาศกระทรวงแรงงานบังคับใช้นั่นเอง (ฎีกาที่ 207/2559)

2. กรณีเรียกหลักประกันการทำงานก่อนและกระทำการละเมิดต่อสหกรณ์หลังวันที่ประกาศกระทรวงแรงงานบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 เช่น สหกรณ์เรียกหลักประกันการทำงานโดยใช้ทรัพย์สิน เงินสด หรือบุคคลค้ำประกัน และได้ระบุวงเงินความรับผิดไว้เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่เจ้าหน้าที่ได้รับ หรือมีข้อตกลงให้ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ ต่อมาหากลูกจ้างกระทำละเมิดต่อสหกรณ์หลังวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ผลคือ สหกรณ์เรียกมีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้ไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่เจ้าหน้าที่ได้รับ (ฎีกาที่ 3335/2561)

3. กรณีเรียกหลักประกันการทำงานหลังวันที่ประกาศกระทรวงแรงงานบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 เช่นสหกรณ์เรียกหลักประกันการทำงานโดยใช้ทรัพย์สิน เงินสด หรือบุคคล และได้ระบุวงเงินความรับผิดไว้เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่เจ้าหน้าที่ได้รับ หรือมีข้อตกลงให้ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ หากต่อมาเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อสหกรณ์ ผลคือ สหกรณ์ไม่มีสิทธิเรียกเอาค่าเสียหายเอาจากหลักประกัน หรือผู้ค้ำประกันได้เลย เพราะเป็นการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงแรงงานฯ สัญญาค้ำประกันการทำงานจึงตกเป็นโมฆะ (ฎีกาที่ 354/2561)

บทสรุปส่งท้าย  

สหกรณ์ในฐานะนายจ้าง ควรมีการตรวจสอบสัญญาจ้างเจ้าหน้าที่ ซึ่งหากพบว่ามีการเรียกรับหลักประกันการทำงานที่ขัดต่อประกาศกระทรวงแรงงานฯ หรือ กำหนดความรับผิดของหลักประกันไว้เกิน 60 เท่า ของค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่เจ้าหน้าที่ได้รับ หรือ กำหนดให้ผู้ค้ำประกันร่วมรับผิดกับเจ้าหน้าที่อย่างลูกหนี้ร่วม ให้สหกรณ์ดำเนินการแก้ไขการเรียกหลักประกันการทำงานให้ถูกต้องและเป็นไปตามประกาศกระทรวงแรงงานฯ ทั้งนี้ เพื่อให้สหกรณ์มีหลักประกันการทำงานที่สามารถนำมาเยียวยาชดใช้ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานของเจ้าหน้าที่สหกรณ์ได้.

บทความโดย...นายพีระพล ดวงมณี นิติกรปฏิบัติการ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดพิจิตร

ขับเคลื่อนโดย Blogger.