โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ส่วนหน้า แถลงความคืบหน้าการแก้ไขสถานการณ์โควิด – 19 ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เตรียมความพร้อมเปิดเมือง เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐและการศึกษาควบคู่กันไป
วันนี้ (14 ธันวาคม 2564) ที่ห้องแถลงข่าวศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พลตรีปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ส่วนหน้า
(โฆษก สบค.ส่วนหน้า) แถลงความคืบหน้าการแก้ไขสถานการณ์โควิด – 19 ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ถึงภาพรวมสถานการณ์และแนวโน้มสถานการณ์โควิด-19/ ความคืบหน้าการฉีดวัคซีน มาตรการรองรับการเตรียมเปิดภาคเรียนแบบ On Site รวมไปถึงมาตรการป้องกันการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
เพื่อเดินหน้าเปิดประเทศขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการศึกษาควบคู่กันไป โดยมีสื่อมวลชนในพื้นที่เข้าร่วมการแถลงความคืบหน้าในครั้งนี้
พลตรีปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ส่วนหน้า กล่าวว่า ภาพรวมในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนี้ จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อเฉลี่ยมากที่สุดคือ จังหวัดสตูล 1.13 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ จังหวัดปัตตานี 0.97 เปอร์เซ็นต์ และน้อยสุดคือ จังหวัดสงขลา 0.43 เปอร์เซ็นต์ และพบว่าผู้เสียชีวิตรายใหม่ 5 ราย ของวันที่ 12 ธ.ค. 64 เป็นผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีนคิดเป็นร้อยละ 100/ ส่วนผลการตรวจหาเชื้อเชิงรุกแบบ ATK ในรอบ 7 วัน พบมีผู้ติดเชื้อเฉลี่ยร้อยละ 5.28 เปอร์เซ็นต์ น้อยกว่าค่าเฉลี่ยในห้วงเดือนตุลาคมเกือบร้อยละ 20 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ภาพรวมการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ และเตียงยังสามารถรองรับผู้ป่วยได้อย่างเพียงพอ
สำหรับภาพรวมการเร่งฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 มีภาพรวมที่ดีขึ้น โดยเฉลี่ยร้อยละ 62.82 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นจากห้วงสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.15 เปอร์เซ็นต์ เมื่อแยกเป็นรายจังหวัดพบว่าจังหวัดที่มีอัตราการฉีดสูงสุดคือ จังหวัดสงขลา ตามด้วยจังหวัดยะลา จังหวัดสตูล จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดปัตตานี ตามลำดับ พบว่ายังมีอำเภอที่มีผลการฉีดต่ำกว่าร้อยละ 40 จำนวน 3 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอยะรัง อำเภอมายอ และอำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี ซึ่งหลังจากนี้หน่วยงานทุกภาคส่วนยังคงเดินหน้าเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนครอบคลุม 100 เปอร์เซ็นต์
ส่วนมาตรการรองรับการเตรียมเปิดการเรียนแบบ on site เมื่อ 8 – 9 ธ.ค. 64 พบว่ามีโรงเรียนที่สามารถเปิดเรียนแบบ on site ได้เพียง 104 โรงเรียน จากทั้งหมด 5,528 โรงเรียน ซึ่งหลังจากนี้ทุกโรงเรียนจะต้องดำเนินการวางมาตรการให้ผ่านเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ นั่นคือต้องมีผลการฉีดวัคซีนในกลุ่มครูและนักเรียนร้อยละ 85 เปอร์เซ็นต์และชุมชนร้อยละ 70 เปอร์เซ็นต์ เพื่อกำหนดการเปิดเรียนแบบ on site ให้ได้มากที่สุด ภายในช่วงกลางเดือน ธันวาคม 2564 เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนชั้น (ป.6, ม.3, ม.6) ในการเลื่อนชั้นเรียน โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์โควิด – 19 ครั้งล่าสุด มีมติเห็นชอบให้มีการทยอยเปิดเรียนในบางพื้นที่/อำเภอ บางโรงเรียน บางชั้นเรียน และโรงเรียนในสังกัดสถาบันการศึกษาปอเนาะ ซึ่งมีสถานะเสมือนโรงเรียนประจำ อนุญาตให้เปิดการเรียนได้โดยจะเข้าทำการตรวจหาเชื้อเชิงรุกแบบ ATK และฉีดวัคซีนเชิงรุกในทุกโรงเรียน
ทั้งนี้ ผลจากการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า – 2019 ครั้งที่ 20/2564 เมื่อ13 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา ได้มีการปรับลดระดับพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) แต่ยังไม่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่จังหวัดนำร่องเพื่อการท่องเที่ยวทั้ง 3 ระยะ ซึ่งในที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการให้ปรับลดระดับพื้นที่ ให้ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เตรียมความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ ในลักษณะ test & go (ทางบก) โดยเน้นย้ำการเดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการในทุกมิติ เช่นผู้เดินทางต้องฉีดวัคซีนครบโดส/ ความพร้อมของด่านตรวจคนเข้าเมือง/ การตรวจหาเชื้อโควิด – 19 ใน Day 1 และมีโรงพยาบาลคู่ปฏิบัติการ/ มีระบบการติดตามผ่านแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” และมาตรการ Covid Free Setting โดยเฉพาะสถานประกอบการต้องมีมาตรฐาน SHA (เอส. เอช.เอ) หรือ SHA+(เอส.เอช.เอ.เพลัส) คาดว่าจะมีความพร้อมเปิดดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้จะต้องผ่านความเห็นชอบจากการหารือร่วมกันอย่างเป็นทางการของรัฐบาลไทยและมาเลเซียก่อน
ภาพ/ข่าว
อับดุลหาดี เจ๊ะยอ จ.ยะลา