สุโขทัย อดีตนายก อบต.3 สมัยหันใช้ชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงกับความยั่งยืนในช่วงโควิด-19
ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ หรือสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน การน้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สามารถนำมาปรับใช้ได้ ทั้งในเรื่องของหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข หรือการจัดสรรพื้นที่ในการทำเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ เปรียบเสมือนแนวทางในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ ที่นายองอาจ เพ็งเอี่ยม อดีตนายกอบต.ตาลเตี้ย อ.เมือง จ.สุโขทัย ได้เข้ารับการอบรมและได้รับการถ่ายทอดความรู้มาจนเข้าใจ และสามารถปฎิบัติตามได้จนทำให้ปัจจุบัน ดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข
บนพื้นที่ 6 ไร่ เศษ ที่ตำบลตาลเตี้ย นายองอาจได้ปรับพื้นนา โดยมีการแบ่งพื้นที่ปลูกพืชต่างๆ อย่างชัดเจน เช่น การปลูกข้าวอินทรีย์ กล้วยน้ำว้า และพืชผักสวนครัวต่างๆ แต่ที่เป็นสินค้าหลักและสามารถสร้างรายได้เป็นอย่างดีนั้น คือ การเลี้ยงไก่อารมณ์ดี จำนวน 300 ตัว มีการแบ่งพื้นที่อย่างชัดเจน ไม่ให้มาปะปนกับการปลูกพืชอื่นๆ โดยในบริเวณเลี้ยงมีการแบ่งโรงเรือนนอนและพื้นที่เดินเล่นให้กับไก่ไข่อย่างลงตัว ช่วง 1 เดือนแรกที่ไก่ไข่เข้ามาอยู่ภายในฟาร์ม จะเปิดเพลงให้ฟัง จะให้กินอาหารที่เป็นอาหาร เช่น หยวกกล้วย รำข้าว กากน้ำตาล ดินร่วน เกลือ ฯลฯ ซึ่งเป็นอาหารที่ใช้เลี้ยงในแต่ละวัน เมื่อไก่ไข่ครบกำหนดอายุ 5 เดือน ก็จะเริ่มออกไข่ให้เก็บจำหน่ายได้ที่สามารถเก็บไข่จำหน่ายได้เป็นรายได้หลักมาหมุนเวียน โดยเน้นให้ไก่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี พร้อมทั้งให้กินอาหารพืชผลอินทรีย์เข้ามาเสริม จึงทำให้ไข่ที่ได้มีคุณภาพ สามารถจำหน่ายได้ราคาที่สูง สามารถให้ไข่นานถึง 3 ปี เพราะเลี้ยงแบบไม่มีการกักไข่ ไก่สามารถคุ้ยเขี่ยได้อิสระ เพราะฉะนั้น จึงทำให้ไก่ไข่ไม่เกิดความเครียดและมีความแข็งแรง
ส่วนบ้านพักที่สร้างไว้เฝ้านาก็ดัดแปลงร่วมกับสมาชิกสมาคมการค้าเกษตรเชิงท่องเที่ยววิถีสุโขทัย ด้วยการเลี้ยงและเพาะพันธุ์ปูนา เพราะมองว่าการเลี้ยงปูนาไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมาก บ่อเลี้ยงสามารถจัดให้เข้ากับพื้นที่บ้าน ก็จะส่งผลให้ง่ายต่อการดูแล ซึ่งในอดีตมักจะพบเห็นปูนาจำนวนมากอยู่ตามนาข้าว หรือแหล่งน้ำต่างๆ แต่ปัจจุบันด้วยการทำเกษตรกรรมที่มีการใช้สารเคมีกันอย่างแพร่หลาย ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ ในระบบนิเวศน์ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า รวมถึงปูนาด้วยเช่นกัน จนพบว่าปูนามีจำนวนน้อยลง และหาจับจากธรรมชาติได้ยากขึ้น จึงทำให้มีเกษตรกรนำมาเพาะเลี้ยงเพื่อป้องกันไม่ให้สูญพันธุ์ในอนาคต จนกลายเป็นอาชีพหลักในปัจจุบัน ซึ่งสร้างกำไรได้ไม่น้อยไปกว่าสัตว์ชนิดอื่นเลยทีเดียว
และในอนาคตนายองอาจกล่าวว่า ได้เริ่มทำนาออร์แกนิค ที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตมากขึ้น เพราะการใช้ปุ๋ยจุลินทรีย์จะทำให้ ได้ผลผลิต 800 กิโลกรัมต่อไร่ โดยต้นทุนในการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพียงแค่ ประมาณ 200 บาทต่อไร่โดย อาจจะต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากในตอนแรกแต่จะค่อยๆ ลดลงเมื่อสภาพดินดีแล้ว ในขณะที่การใช้ปุ๋ยเคมี จะได้ผลผลิตประมาณ 400 กิโลกรัมต่อไร่ โดยต้นทุนการผลิตประมาณ 400 บาทต่อไร่และต้องเพิ่ม ปริมาณปุ๋ยให้มากขึ้นในทุกๆปี และได้สภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์กลับคืนมา ดินร่วนซุย รากข้าวชอนไชหาอาหารง่าย กบ กุ้ง ปลาชุกชุม มีสุขภาพชีวิตที่ดี มีอาหารปลอดสารพิษไว้บริโภค และจะพัฒนารูปแบให้ตอบรับกับสังคมเมือง ทั้งไข่ไก่อารมณ์ดี ผลิตภัณฑ์ปูนาแปรรูป และข้าวอินทรีย์ เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด ส่งขายยังซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ ที่มีการตอบรับมาแล้ว
พงศ์เทพ สาคร สุโขทัย