ชลบุรี - นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่ฯ วอนรัฐฯ แก้ปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินภาคธุรกิจเกษตรปศุสัตว์ ก่อนทรุดเป็นลูกโซ่ แนะใช้วิธีเดียวกับครั้งวิกฤตไข้หวัดนก ให้ ก.คลัง-พาณิชย์ ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำช่วยภาคการผลิตเดินได้
ที่ บริษัท ฉวีวรรณ ฟาร์ม จำกัด อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ดร.ฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการบริหาร บริษัทในเครือฉวีวรรณ ผู้ผลิตและส่งออกเนื้อไก่ปรุงสุกและเนื้อไก่แปรรูปรายใหญ่ของไทย ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับแผนระดมฉีดวัคซีน ก่อนเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวของรัฐบาลโดยเฉพาะใน 5 เมืองท่องเที่ยวใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ ชลบุรี ( พัทยา-สัตหีบ) เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี ว่าเป็นการดำเนินนโยบายที่ถูกทาง เพราะการเปิดประเทศรับการเดินทาง จะสร้างความมั่นใจในแง่ของเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะข่าวการระดมฉีดวัคซีนให้ประชาชนที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก สามารถสร้างความมั่นใจให้คู่ค้าในภาคธุรกิจต่างๆ ที่อยู่ในต่างประเทศได้
ดร.ฉวีวรรณ เผยว่า “ชาวต่างชาติเองเขาอยากให้เราเปิดประเทศมานานแล้ว เพราะคนที่ทำธุรกิจอยากเดินทางเข้ามาเจรจาการค้า หรือแม้แต่มาดูการผลิตสินค้า ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มฉวีวรรณ ที่ในวันนี้ลูกค้าอยากเดินทางเข้ามาดูกระบวนการผลิตและต้องการได้สินค้าในรูปแบบใหม่ ซึ่งการเปิดประเทศถือเป็นเรื่องดีและควรให้การสนับสนุน” โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนให้ชาวต่างชาติที่อาศัยและทำงานอยู่ในประเทศไทย เช่นเดียวกับแรงงานต่างด้าวในโรงงานหรือสถานประกอบการต่างๆ เพื่อให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างจริงจัง
และยังเผยถึงการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวว่า แม้จะทำให้การท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกลับมาเดินได้อีกครั้ง แต่รัฐบาลจะต้องไม่มองข้ามธุรกิจเกษตรปศุสัตว์ที่จะต้องอยู่รอดเช่นกันหลังต้องประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนัก ซ้ำยังต้องเผชิญกับราคาวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารสัตว์ที่แพงที่สุดในรอบ 10 ปี สวนทางกับกำลังซื้อในประเทศที่ตกต่ำถึงขีดสุด
“ภาพรวมการส่งออกเนื้อไก่ในช่วงปลายปีจะยังไม่ดีขึ้นเพราะการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ทำให้แรงงานกัมพูชาที่เดินทางกลับประเทศไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานได้ แม้จะได้รับวัคซีนไฟเซอร์จากประเทศบ้านเกิดแล้วก็ตาม ผลที่ตามมาคือโรงงานขาดแรงงานจนต้องขยายวันจับไก่จาก 42-45 วัน เป็น 80 วัน ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกหายไปแล้วถึง 30%”
ไม่เพียงเท่านั้นปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าและราคาการขนส่งที่พุ่งสูงถึง 4 เท่าตัวทำให้ผู้ประกอบการประสบปัญหาเป็นลูกโซ่และเมื่อสถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อ สุดท้ายจึงกระทบถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ ลูกจ้าง และซัพพลายเออร์
“สิ่งที่อยากฝากถึงรัฐบาลคือต้องหันมาดูแลผู้ประกอบการในภาคเกษตรปศุสัตว์เพราะประเทศไทยคือครัวของโลก และเมื่อครั้งสมเด็จพระพันปีหลวง ยังทรงมีพระพลานามัยที่สมบูรณ์ พระองค์มีความมุ่งมั่นที่จะให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก ซึ่งรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาให้การส่งเสริมเป็นอย่างดี แต่ปัจจุบันนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้นผู้ประกอการจึงอยู่ในภาวะลำบาก”
ดร.ฉวีวรรณ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินของผู้ประกอบการในลักษณะเดียวกันกับเมื่อครั้งเกิดวิกฤตไข้หวัดนก ด้วยการผลักดันให้กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ หรือกระทรวงเกษตรฯ ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำผ่านธนาคารกรุงไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการประคองตัวได้ “ในนามสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่ฯ ในคราวที่เกิดวิกฤตไข้หวัดนก เราเคยนำเงินที่ได้รับการปล่อยกู้จากกระทรวงการคลังผ่านธนาคารกรุงไทย จำนวน 15,000 ล้านบาทมาให้ผู้ประกอบการได้นำไปต่อยอดการผลิตและสนับสนุนคู่ค้าในระบบ ซึ่งสุดท้ายทุกคนสามารถชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยได้โดยไม่มีปัญหา” ดร.ฉวีวรรณ กล่าว
สัมภาษณ์ : ดร.ฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
ภาพ/ข่าว ยืนยงค์ ยินดีทรง