Header Ads

 


 ศอ.บต. MOU บพท. ร่วมขจัดความจน จชต. ผ่านการวิจัยและนวัตกรรม แบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ



วันที่ 19 ก.ย. 64 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีพลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. และ ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. เป็นประธานในการลงนาม เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาคนจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างทั้ง 2 หน่วยงาน ให้บรรลุเป้าหมายอันจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ พร้อมฝึกปฏิบัติการใช้งานระบบ pppconnext ในการวิเคราะห์ข้อมูลครัวเรือนกับทุนการดำรงชีพของคนจน เสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดการ   ดำรงชีพอย่างยั่งยืน


เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า การทำงานแก้ไขปัญหาความยากจนในปี 2565 ศอ.บต. จะร่วมกับทุกหน่วยงานและทุกเครือข่ายองค์กร มุ่งแก้ไขปัญหาความยากจนทุกครัวเรือนใน จชต. โดยใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก และเลขที่บ้าน เพื่อตรวจสอบความยากจนในมิติต่างๆ ซึ่งเป็นเครื่องมือลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการรัฐ  เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนที่ตรงเป้าหมายอย่างแท้จริง ที่ผ่านมา ศอ.บต.ได้มุ่งแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างต่อเนื่อง แต่หลังจากนี้จะนำงานวิจัยและนวัตกรรมใช้ตรวจสอบครัวเรือนยากจนได้อย่างแม่นยำของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  โดย บพท. มาดำเนินการเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ จชต. ส่งผลให้พื้นที่บอบช้ำเข้าสู่ปีที่ 18 วันนี้ถือเป็นมิติที่ดีของการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยคาดว่าในปี 2565 ภาคใต้จะมีถังข้อมูลทั้งหมดของคนจน และนำไปสู่การแก้ไขปัญหา นำพาประชาชนก้าวเข้าสู่การพออยู่ พอกิน และกินดี อยู่ดีในปี 2570 และเมื่อถึงวันนั้นจะสามารถยุติความความรุนแรงได้อย่างยั่งยืน


ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวถึงการลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ว่า เป็นจุดเปลี่ยนของการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากแผนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ เป็นแพลตฟอร์มใหม่ของประเทศ ในการนำงานวิจัยและนวัตกรรมค้นหาคนจน พร้อมเครื่องมือในการวิเคราะห์รากของปัญหา นำไปซึ่งการออกแบบความช่วยเหลือ โดยเฉพาะคนจนซ้ำซาก ซึ่งที่ผ่านมา บพท.ได้ค้นหาสอบทานคนจนนำร่อง 20 จังหวัด จาก Big Data pppcnnext ของ อว. ซึ่งจังหวัดปัตตานี เป็น 1 ใน 20 จังหวัดที่ดำเนินการค้นหาและชี้คนจนในพื้นที่นั้นด้วย 

อย่างไรก็ตามการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง ศอ.บต. และ บพท.ในครั้งนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยการลดความเหลื่อมล้ำ  ซึ่งภายในงานมีการจัดเวทีสัมมนา "ปฏิบัติการแก้จนบนฐานคิดและเครื่องมือการดำรงชีพอย่างยั่งยืน"  เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการวิเคราะห์ระบบการดำรงชีพผ่านระบบ pppconnext ด้วย

ภาพ/ข่าว

อับดุลหาดี  เจ๊ะยอ






ขับเคลื่อนโดย Blogger.