Header Ads

 


 นิพนธ์ นำทีม ผู้ว่าฯสงขลา อบจ.สงขลา กรมชลประทาน ติดตามรับมือสถานการณ์ อุทกภัยพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญภาคใต้ กำชับ การเตรียมความพร้อมเครื่องจักร ระบบเตือนภัย ลดผลกระทบในฤดูมรสุมภาคใต้



    เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564  นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์/รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามการเตรียมความพร้อมของสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสงขลา ณ จุดประตูระบายน้ำบ้านหน้าควน ตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อติดตามความคืบหน้าการวางแผนรับมือน้ำท่วมเมืองหาดใหญ่และพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของภาคใต้ โดยมีนายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลาผวจ.สงขลา นายเดช เล็กวิชัย ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 16 นายรุทร์ อินนุพัฒน์ ผอ.สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 11 นายนิพัทธ์ อุดมอักษร เลขานุการอบจ.สงขลา หน.สนง.ปภ. นายอำเภอหาดใหญ่ ร่วมให้การต้อนรับและร่วมรายงานข้อมูล


    นายนิพนธ์  กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ เนื่องจากมีความห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากขณะนี้ภาคอื่นๆของประเทศไทยกำลังประสบปัญหาอุทกภัย ซึ่งได้เน้นย้ำการบริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบตามแนวทาง"สร้างที่ให้น้ำอยู่ ทำทางให้น้ำไหล" เพื่อป้องกันและลดผลกระทบทั้งภัยน้ำท่วมและภัยน้ำแล้ง สำหรับภาคใต้นั้น ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูมรสุม จำเป็นต้องมีการติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน พายุอย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้ภาคใต้เริ่มเข้าสู่มรสุมแล้ว ซึ่งการเตรียมการรับมือในเบื้องต้นนั้น ได้เร่งให้กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เร่งขุดลอกคูคลอง รวมทั้งการพร่องน้ำในคูคลองและอ่างเก็บน้ำ มาก่อนหน้านี้แล้ว พร้อมทั้งการเตรียมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถขุด เรือขุด เตรียมระบบโทรมาตรไว้คอยเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนทราบล่วงหน้า ซึ่งขณะนี้การเตรียมการของฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มีความพร้อมเพื่อการลดผลกระทบต่อความเสียหายทั้งบ้านเรือนประชาชน พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของภาคใต้ ได้


      สำหรับ "โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ"  เป็นโครงการที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขและบรรเทาอุทกภัยเมืองหาดใหญ่ และการลงพื้นที่ติดตามในครั้งนี้เป็นการติดตามโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ ระยะที่ 2 เป็นการปรับปรุงคลอง ร.1 เดิมระบายอยู่ที่ 465 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งจะปรับปรุงให้ระบายน้ำได้ 1,200 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ทั้งนี้ ในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ มีคลองอู่ตะเภาที่ไหลผ่านอำเภอหาดใหญ่ โดยในปี 2553 เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ขณะนั้นมวลน้ำที่ไหลมาลงคลองอู่ตะเภาประมาณ 1,600 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ในขณะที่คลองอู่ตะเภาสามารถระบายน้ำได้เพียง 465 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ทำให้น้ำเอ่อล้นตลิ่ง จึงเป็นที่มาของการปรับปรุงคลอง ร.1 เมื่อการระบายน้ำของ คลอง ร.1 และคลองอู่ตะเภา รวมกันแล้วจะทำให้สามารถระบายน้ำได้ 1,660 ลูกบาศก์เมตร/วินาที 


ทั้งนี้ความคืบหน้าการดำเนินงานของโครงการ คิดเป็นร้อยละ 91.5 คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2565 อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าการดำเนินงานจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์  แต่สามารถช่วยระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากที่จะมาถึงได้ จากการประเมินศักยภาพ พบว่าสามารถระบายน้ำได้ประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที  คาดว่าจะสามารถบรรเทาภัยให้กับประชาชนช่วยลดความเสียหายทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี โดยโครงการดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ตำบลหาดใหญ่ ตำบลควนลัง อำเภอบางกล่ำ ตำบลบ้านหาร ตำบลท่าช้าง ตำบลบางกล่ำของ อำเภอหาดใหญ่ และตำบลบางเหรียง อำเภอควนเนียง ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ป้องกันอุทกภัยในตัวเมืองแล้ว ยังสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในการอุปโภคบริโภคด้านการเกษตรด้านอุตสาหกรรมในเขตเมืองได้อีกด้วย


////






ขับเคลื่อนโดย Blogger.