Header Ads

 


 ชป.เผยผลการศึกษาฯ “โครงการเติมน้ำเขื่อนภูมิพล” แก้ภัยแล้งในพื้นที่ภาคกลางอย่างยั่งยืน



กรมชลประทาน เผยผลการศึกษาโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล สามารถเติมน้ำในเขื่อนภูมิพลได้ปีละประมาณ 1,800 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) หวังแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ภาคกลางได้อย่างยั่งยืน


นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำท่าในแม่น้ำยวม ในแต่ละปีมีปริมาณมากก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำเมยและแม่น้ำสาละวิน ออกสู่ทะเลอันดามัน โดยเปล่าประโยชน์ กรมชลประทาน จึงได้ศึกษาหาแนวทางนำน้ำส่วนนี้ไปเติมในเขื่อนภูมิพล ซึ่งผลการศึกษาสรุปว่า ต้องสร้างเขื่อนในแม่น้ำยวม เหนือจุดบรรจบแม่น้ำเมยทางด้านเหนือน้ำประมาณ 13.8 กม. ตั้งอยู่ที่บ้านแม่ละนา ตำบลท่าสองยาง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ความจุประมาณ 69 ล้าน ลบ.ม. พร้อมกับก่อสร้างสถานีสูบน้ำที่บ้านสบเงา เพื่อสูบน้ำจากเขื่อนน้ำยวมเข้าอุโมงค์ส่งน้ำ ขนาด 8.1- 8.3 เมตร ความยาวประมาณ 62 กิโลเมตร ไปเติมลงในเขื่อนภูมิพล รวมไปถึงการปรับปรุงลำน้ำแม่งูด ระยะทางราว 2 กิโลเมตร รวมค่าก่อสร้างประมาณ 71,110 ล้านบาท 


สำหรับการผันน้ำจากเขื่อนน้ำยวมไปเขื่อนภูมิพล จะดำเนินการในช่วงฤดูฝน ซึ่งจะเริ่มในช่วงเดือนมิถุนายนไปจนถึงเดือนมกราคม สามารถเติมน้ำในเขื่อนภูมิพลได้ปีละประมาณ 1,800 ล้านลูกบาศก์เมตร ในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม จะไม่มีการผันน้ำเนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำยวมมีน้อย ทั้งนี้ จะมีการระบายน้ำจากเขื่อนน้ำยวมเท่ากับปริมาณน้ำตามสภาพธรรมชาติในแม่น้ำยวมในแต่ละช่วง เพื่อรักษาระบบนิเวศด้านท้ายน้ำด้วย 


“ปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นในเขื่อนภูมิพล จะช่วยให้การเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้งเพิ่มขึ้นราว 1.6 ล้านไร่ มีน้ำอุปโภค-บริโภคเพิ่มขึ้นปีละ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มพลังงานไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าเขื่อนภูมิพลได้ปีละ 417 ล้านหน่วย  นอกจากนี้ ยังเกิดแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและการท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่เขื่อนน้ำยวม ที่สำคัญจะช่วยเพิ่มปริมาณการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาได้ประมาณ 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และเมื่อมีการเติมน้ำในเขื่อนภูมิพลแล้ว จะทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนของแม่น้ำปิงมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น สอดรับกับการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง จังหวัดกำแพงเพชร ที่สามารถส่งน้ำไปหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 550,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอไทรงาม อำเภอพรานกระต่าย อำเภอเมือง อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร และอำเภอคีรีมาศ อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย” นายสุรชาติ กล่าว


ปัจจุบันโครงการเติมน้ำเขื่อนภูมิพล ได้ศึกษารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ (คชก.) แล้ว เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา จากนี้ไปกรมชลประทานจะดำเนินการส่งรายงานให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบโครงการฯ ต่อไปตามลำดับ


#RID

#กรมชลประทาน





ขับเคลื่อนโดย Blogger.