Header Ads

 


 ชุมพร - ซ้อมขนย้ายผู้ป่วยโควิดใกล้หายเข้ารักษาต่อที่หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ "Hospitel"



วันที่ 2 พฤษภาคม 2564 เวลา 14.00 น. นายธีระ อนันตเสรีวิทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร พร้อมด้วย นายแพทย์จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชุมพร เจ้าหน้าที่สาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัคร และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามการสาธิตวิธีเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อโควิด -19 จากโรงพยาบาล มายังหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ COVID-19 (Hospitel) ณ นาดอน รีสอร์ท หมู่ที่ 15 ต.ท่าแซะ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร โดยเป็นการจำลองเหตุการณ์เสมือนจริงทุกขั้นตอน ตั้งแต่การขนย้ายผู้ป่วยมาที่หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ การตรวจสอบข้อมูลเพื่อเข้าหอพัก การนำผู้ป่วยเข้าที่พักพร้อมให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวแก่ผู้ป่วยทุกขั้นตอน รวมทั้งขั้นตอนการถอดชุดอุปกรณ์ป้องกันตนเอง (PPE) ของเจ้าหน้าที่พยาบาลและอาสาสมัคร ทั้งนี้เพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจให้แก่เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครที่ร่วมปฏิบัติงาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยให้แก่ตนเอง และประชาชนในพื้นที่


 นายธีระ อนันตเสรีวิทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวว่า หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ แห่งนี้ได้เตรียมไว้สำหรับผู้ป่วย 3 โรงพยาบาลหลักตอนบน คือ โรงพยาบาลท่าแซะ โรงพยาบาลปะทิว และ โรงพยาบาลมาบอมฤต ซึ่งสามารถรับผู้ป่วยได้ 15 คน วันนี้เป็นการซ้อมเหมือนจริงในการขนย้ายผู้ป่วยมายังหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ โดยมีทีมสาธารณสุขจังหวัดชุมพร ผู้อำนวยการโรงพยาบาล สาธารณสุขอำเภอ และทีมอาสาสมัครมูลนิธิชุมพรการกุศลสงเคราะห์ ซึ่งได้เสียสละอย่างมากในการปฏิบัติหน้าที่นี้ในสถานการณ์จริง จึงต้องมีการทำความเข้าใจในขั้นตอนการสวมและถอดชุด PPE รวมทั้งขั้นตอนการขนย้ายผู้ป่วยที่ถูกต้องและปลอดภัย เพื่อสัมผัสเชื้อโรค ดังนั้นการซ้อมในวันนี้จึงเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยหอผู้ป่วยเฉพาะกิจแห่งนี้จะช่วยระบายผู้ป่วยจากโรงพยาบาลส่วนหนึ่ง จากโรงพยาบาลโซนเหนือทั้ง อำเภอท่าแซะ และอำเภอปะทิว ถือว่าเป็นความเข้มแข็งในการเตรียมดูแลผู้ป่วย และช่วยให้โรงพยาบาลหลักมีเตียงว่างรอรับผู้ป่วยอื่นๆ ได้


 ด้าน นายแพทย์จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชุมพร ได้กล่าวถึงการจัดการคนไข้โควิด-19 ของจังหวัดชุมพร ว่า  คนไข้โควิด-19 รายใหม่ทุกรายจะต้องได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์และพยาบาลในโรงพยาบาลทุกรายตามมาตรฐานวิชาชีพ ซึ่งตรงนี้คือจุดแข็งของจังหวัดชุมพรและเป็นไปตามนโยบายของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด โดยทุกรายจะต้องได้รับการประเมินจากทีมแพทย์และรักษาในโรงพยาบาลหลักของแต่ละอำเภออย่างน้อย 10 วัน จากนั้นก็จะประเมินคนไข้เป็น 3 ระดับ คือ สีเขียว ไม่มีอาการ สีเหลือ อาการปานกลาง และสีแดง อาการรุนแรง ซึ่งการรักษาผู้ป่วยของเรา สีเหลืองกับสีแดงจะต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์ 


 ดังนั้นเราจึงต้องมีการผ่องถ่ายผู้ป่วยสีเขียวออกมาที่ หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ ซึ่งมีอยู่ 3 โซนหลัก คือ โซนเหนือ ที่ นาดอน รีสอร์ท รับผู้ป่วยจาก รพ.ท่าแซะ รพ.ปะทิว และ รพ.มาบอมฤต โซนกลาง มีโรงพยาบาลเอกชน ที่จะรับผู้ป่วยจาก รพ.ชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ส่วนโซนใต้ โรงพยาบาลหลังสวน ก็สามารถขยายการรองรับผู้ป่วยได้ ซึ่งหากเกินศักยภาพของ หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ ก็จะผ่องถ่ายไปยังโรงพยาบาลสนาม ดังนั้นศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ของจังหวัดชุมพร ทั้งในโรงพยาบาลและหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ รวมแล้วทั้งหมด 180 เตียง ขณะที่โรงพยาบาลสนามก็มีความจำเป็นสูง เมื่อเกิดการระบาดมากขึ้น เราจะต้องใช้โรงพยาบาลสนาม ซึ่งจะสามารถรองรับผู้ป่วยได้อีก 100 เตียง นี้คือศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยของจังหวัดชุมพรทั้งหมด


 นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าของโรงพยาบาลสนามอีกว่า ตอนนี้ทีมงานของ อบจ.ชุมพร ร่วมกับทีม สนง.โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดชุมพร ที่ทำการปกครองจังหวัดชุมพร และทุกส่วนราชการ ได้ระดมกำลังทำกันอย่างเต็มที่ ซึ่งคาดว่าต้นเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีความพร้อมที่จะใช้งานได้ เนื่องจากเราไปทำที่มหาลัยกีฬา จึงต้องมีการปรับปรุงสถานที่เพื่อให้เป็นโรงพยาบาลได้จริงๆ ให้มีมาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาลหลัก เพื่อการควบคุมเชื้อโรคต่างๆ จึงขอให้พี่น้องชาวชุมพรมั่นใจว่า โรงพยาบาลสนามของเราก็คือ โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ สาขา 2 โดยมี นพ.ฉัตรชัย พิริยประกอบ รอง ผอ.รพ.ชุมพรฯ ไปเป็น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนาม ซึ่งมีความรู้และความเชี่ยวชาญจึงขอให้พี่น้องประชาชนไว้วางใจได้

ธนากร โกศลเมธี รายงานศูนย์ข่าวสารจังหวัดชุมพร 0818923514










ขับเคลื่อนโดย Blogger.