Header Ads

 


ศาลฎีกายกฟ้อง สสชาญชัย พ้นผิดคดีหมิ่นประมาท บริษัทคิงพาวเวอร์ หลังแฉความจริง! พร้อมเดินหน้าให้มี การแก้ไขให้ถูกต้อง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ


          ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 31มีนาคม 2564 ได้รับการเปิดเผยจากนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส. จังหวัดนครนายก อดีตรองประธานคณะอนุกรรมาธิการป้องกันและปราบปรเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ว่าจากข้อเท็จจริงที่ปรากฎในคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่ตนถูกกลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ ฟ้องหมิ่นประมาท และศาลฎีกาได้พิจารณาใน 7 ประเด็นหลักๆ ดังนี้

ประเด็นที่ 1 เรื่องที่นายชาญชัย ให้สัมภาษณ์ถึงมูลค่าโครงการของสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานภูมิภาค มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 แต่มีการหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว

ซึ่งในคำพิพากษาศาลฎีกาได้มีการพิจารณาและเห็นว่าข้อเท็จจริงที่นายชาญชัยให้สัมภาษณ์นั้น มีการจัดทำเป็นรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงไว้เป็นลายลักษณ์อักษร รวมทั้งการให้สัมภาษณ์ของนายชาญชัย ไม่ใช่การกล่าวอ้างโดยไม่มีเหตุผล ไม่มีพยานหลักฐาน หรือกล่าวอ้างขึ้นมาลอยๆ และเป็นเรื่องที่มีพยานหลักฐานยืนยันข้อเท็จจริงแน่ชัด อีกทั้งในคำฟ้องต่อศาลแพ่ง ที่กลุ่มคิง เพาเวอร์ฟ้อง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (ทอท.) นั้น  ทั้ง บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ก็ยอมรับว่า ได้มีการลงทุนในโครงการมากกว่า 1,000 ล้านบาทด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เรื่องที่นายชาญชัยให้สัมภาษณ์นั้นเป็นเรื่องที่มีข้อมูลจริง

ประเด็นที่ 2 เรื่องที่นายชาญชัย ให้สัมภาษณ์ถึงกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ไม่ได้ติดตั้งระบบ Point Of Sale (POS) ซึ่งตามสัญญามีการระบุแจ้งชัดว่า ผู้รับอนุญาตจะต้องนำส่งข้อมูลและรายได้ของโครงการให้แก่ ทอท. ซึ่งสัญญาที่ได้ทำตั้งแต่ปี 2548 ถึง 2559 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจพบว่า ยังไม่ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลตามสัญญาแต่อย่างใด ซึ่งทำให้ไม่สามารถควบคุมเกี่ยวกับการกระทำธุรกรรมขายสินค้าปลอดอากรให้เป็นไปอย่างถูกต้องได้ โดยมีเอกสารหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่า เพิ่งมีการเริ่มดำเนินการติดตั้งระบบ POS เมื่อกลางเดือน ก.พ. 2558 เท่านั้น

คำให้สัมภาษณ์ของนายชาญชัยที่เกี่ยวกับประเด็นนี้ ศาลฎีการะบุว่า เป็นคำสัมภาษณ์ที่อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงที่มีพยานหลักฐานที่เป็นเอกสารยืนยันแน่ชัดเช่นกัน ไม่ได้เป็นเรื่องที่นายชาญชัยแต่งขึ้นมาเพียงเพื่อกลั่นแกล้งให้บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัดได้รับความเสียหายแต่อย่างใด

ประเด็นที่ 3 เรื่องการจ่ายค่าตอบแทน ซึ่งตามสัญญา บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิในการประกอบกิจการบริหารจัดการพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์นั้น ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ ทอท. ในอัตรา 15% ของราคาสินค้าที่ขายได้ ซึ่งบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ขออนุญาตให้ บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ดำเนินการแทน

แต่ในข้อเท็จจริงกลับปรากฎว่า บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด จ่ายค่าตอบแทนในอัตรา 15% ของอัตรา 3% ของค่าบริการที่บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ได้รับจากบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในการนำสินค้าจากถนนรางน้ำไปส่งยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นการผิดสัญญา โดยในประเด็นนี้ สิ่งที่นายชาญชัยได้ให้สัมภาษณ์ไว้ ศาลฎีกา เห็นว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงเช่นเดียวกัน และมีพยานหลักฐานเป็นเอกสารยืนยันแน่ชัด

ประเด็นที่ 4 สิ่งที่นายชาญชัย ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องการเรียกเก็บค่าส่วนแบ่งรายได้จากการจำหน่ายสินค้าจากร้านค้าไม่เกิน 20% ของรายได้ของร้านค้า ซึ่งเป็นข้อตกลงตามสัญญาที่บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ทำกับ ทอท. แต่บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด เรียกเก็บจากธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เป็นค่าสิทธิในการประกอบกิจการร่วม เป็นเงิน 100 ล้านบาท และเรียกเก็บจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นค่าสิทธิในการประกอบกิจการรวมเป็นเงิน 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อสัญญา

ประเด็นที่ 5 เรื่องที่นายชาญชัย ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการที่คณะกรรมการบริหารและพัฒนากิจการภายในท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิ มีการประชุมกันเป็นการภายใน แต่กลับมีการเชิญตัวแทน บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด มาร่วมประชุมด้วย เพื่อให้ร่วมเสนอแนวความคิดในการออกแบบพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดเผยข้อมูล ทำให้บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ทราบข้อมูลมากกว่าผู้เข้าร่วมประมูลรายอื่น จนในที่สุดบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ก็ชนะการประมูล

ในประเด็นนี้ศาลฎีกา เห็นว่าสิ่งที่นายชาญชัยให้สัมภาษณ์นั้น เห็นได้ว่า เจตนาในการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง น่าจะเป็นเรื่องการมุ่งหาข้อเท็จจริงซึ่งมีวัตถุประสบค์ไปที่เจ้าหน้าที่ของ ทอท. ที่กระทำการโดยไม่สุจริต มากกว่าที่จะต้องการทำให้บริษัท และหน่วยงานได้รับความเสียหาย

ประเด็นที่ 6 การทำสัญญาที่จะต้องใช้บังคับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาและดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ของ ทอท. เป็นหลัก ทั้งการที่ไม่ติดตั้งระบบ POS และการไม่จ่ายค่าตอบแทนให้เป็นไปตามสัญญา ซึ่งหากเป็นเรื่องที่บริษัททั้ง 3 ทำผิดสัญญา ก็เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ของ ทอท. จะต้องดำเนินการบังคับให้เป็นไปตามสัญญาหรือดำเนินการฟ้องร้องเป็นคดีความต่อศาล แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฎว่า เจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวกลับปล่อยปละละเลย ซึ่งเรื่องนี้ทางคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้ยื่นคำร้องต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อขอให้พิจารณาสอบสวนการทุจริตภายในของ ทอท. ไปแล้ว

ประเด็นที่ 7 ศาลมองว่าสิ่งที่นายชาญชัยให้สัมภาษณ์ไปนั้นเกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเป็นเรื่องของความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อส่วนรวม หากมีความเสียหายเกิดขึ้นก็เท่ากับหน่วยงานของรัฐหรือประเทศชาติได้รับความเสียหายไปด้วย ซึ่งหน้าที่การรักษาปกป้องประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ เป็นหน้าที่ของประชาชนพลเมืองดีโดยทั่วไป ดังนั้นผู้ใดที่จะให้สัมภาษณ์หรือเผยแพร่ข่าวสารต่อสาธารณะ ควรคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง โดยไม่มีผลประโยชน์อื่นใดแอบแฝง

นายชาญชัยกล่าวว่า สิ่งที่ตนได้ให้สัมภาษณ์ไปทั้งหมดนั้น เป็นการพูดไปตามเอกสารหลักฐาน ทั้งจาก สตง. ศาลแพ่ง ผลการตรวจสอบจาก คกก. ที่ตั้งขึ้นโดย ทอท. คำให้การของเจ้าหน้าที่ ทอท. ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเอกสารจากหน่วยงานที่ตรวจสอบอย่างถูกต้องแล้ว และต้องการให้เรื่องนี้ได้รับการแก้ไข เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาร่วม 10 ปี ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย อีกทั้งมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ทั้งส่วนที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยงานรัฐ บริษัทที่ปรึกษา ผู้ประกอบการ รวมไปถึงเมื่อมีการตรวจสอบแล้วมีการเข้าให้การเท็จในชั้นศาลอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดจะต้องนำมาแยกแยะเพื่อส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ปปช. ทอท. กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง ไปจนถึงนายกรัฐมนตรี

“โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลการท่าอากาศยานฯ และนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลสูงสุด อีกทั้งได้เคยส่งหนังสือแจ้งการทุจริตนี้ไปร่วม 2 ปีแล้ว  ผมจะทำหนังสือ พร้อมกับคำพิพากษาไปให้อีกครั้ง เพื่อให้ไปจัดการ และดำเนินการกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมายที่ศาลฎีกาได้ชี้แนวทางไว้ให้ อีกทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้น และดำรงอยู่นี้ ยังไม่ถูกเรียกเก็บให้ถูกต้องตามสัญญาซึ่งเป็นเงินหลายหมื่นล้าน ก็จะได้ดำเนินการต่อไปให้เสร็จสิ้นตามคำพิพากษาของศาลฎีกาต่อไป

ทีมข่าว Today News รายงาน

 

ขับเคลื่อนโดย Blogger.