Header Ads

 


แม่ทัพภาคที่ นำกำลังร่วม 3 ฝ่าย แถลงคุมเข้มสกัดกั้นแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง หลังจับกุมแรงงานและขบวนการนำพาได้จำนวนมากในพื้นที่ จชต.


วันนี้ (22 ม.ค.2564) เวลา 09.00 น. ที่ ห้องประชุมยะลารวมใจ ศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า พลโทเกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 พร้อมด้วย พล.ต.ท.รณศิลป์  ภู่สาระ  ผู้บัญชาการ ตำรวจภูธรภาค 9 และ นายชัยสิทธิ์  พาณิชย์พงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ร่วมแถลง มาตรการควบคุมและสกัดกั้นแรงงานต่างด้าวหลบหนีเขเมืองและกวดขันจับกุมขบวนการนำพาแรงงานต่างด้าว หลังจับกุมแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าทางช่องทางธรรมชาติได้แล้ว กว่า 600 คน 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ทำให้ประเทศมาเลเซีย ได้มีการปิดจุดผ่านแดนมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563   โดยอนุญาตให้คนไทยเดินทางกลับ  และลงทะเบียนผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีคนไทยเดินทางกลับประเทศ ผ่านทางด่านพรมแดน เบตง สุไหงโกลก  สะเดา   ปาดังเบซาร์ และ ด่านวังประจัน จำนวน 26,970 คน โดยแนวโน้มการแพร่ระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งมาเลเซียและเมียนมาร์ ยังคงทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการล็อคดาวน์และลดการจ้างงาน  โดยเฉพาะประเทศมาเลเซีย ที่ล่าสุดได้มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน  เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม ไปจนถึงวันที่ 1  สิงหาคม 2564 หรือจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น  พร้อมมีการบังคับจำกัดการเดินทาง ในบางพื้นที่  ที่มีการระบาดหนัก ประกอบกับในประเทศไทย  เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ระลอกใหม่ขึ้น  ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร  ซึ่งต้นตอการระบาดเกิดจากกลุ่มบุคคลต่างด้าว ที่ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายตามช่องทางธรรมชาติ  รัฐบาลจึงสั่งการให้เพิ่มมาตรการในการป้องกัน  รวมทั้งจับกุมขบวนการนำพาบุคคลต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด

โดยที่ผ่านมาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการกวดขันจับกุมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในห้วงตั้งแต่ 1  ตุลาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน มีสถิติการจับกุมจำนวน 86 ครั้ง จับกุมบุคคลต่างด้าวได้ 624  คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมาร์ 408 คน  กัมพูชา 64 คน  ลาว 76 คน  มาเลเซีย 21 คน  เวียดนาม 45 คน  บังคลาเทศ 1 คน  สัญชาติจีน 2 คน  และอื่นๆ 26 ซึ่งสามารถจับกุมได้ในพื้นที่ชายแดนระหว่างการข้ามแดน  บริเวณด่านตรวจจุดสกัดในระหว่างการเคลื่อนย้าย  และจากการพิสูจน์ทราบพื้นที่หลบซ่อนพักพิง  ทั้งบริเวณแนวชายแดนและจุดพักคอยในพื้นที่ตอนใน 

พร้อมทั้งได้จับกุมผู้นำพาทั้งในระหว่างการเคลื่อนย้าย และระหว่างให้ที่พักพิง   รวมทั้งสิ้นจำนวน 15 คน นำไปสู่การพิสูจน์ทราบขยายผลบุคคลที่เกี่ยวข้อง กับขบวนการนำพาบุคคลต่างด้าว จำนวน 13 ครั้ง ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดสงขลา และจังหวัดนครศรีธรรมราช 

สำหรับรูปแบบการนำพากลุ่มบุคคลต่างด้าวข้ามแดนโดยผิดกฎหมาย มีวัตถุประสงค์เพื่อนำพาเดินทางออกจากประเทศมาเลเซีย ไปยังประเทศปลายทาง  โดยขบวนการนำพาออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มขบวนการนำพาบุคคลต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา เวียดนาม ลาว โดยมีการประสานงานระหว่างนายหน้าของฝั่งประเทศไทย และนายหน้าของฝั่งประเทศมาเลเซีย เพื่อรวบรวมบุคคลจากประเทศมาเลเซีย  ที่ต้องการข้ามแดนมายังประเทศไทย พร้อมนัดหมายการเดินทาง ก่อนลักลอบเข้าประเทศโดย  ใช้ช่องทางธรรมชาติ ข้ามแม่น้ำโก-ลก โดยเรือยนต์รับจ้าง ที่มีการนัดหมายกันล่วงหน้า เมื่อข้ามมาแล้วจะมีรถยนต์มารับเพื่อเดินทางต่อ โดยใช้รถยนต์ส่วนบุคคล   หรือรถตู้สาธารณะไม่ประจำทาง  หรือลักลอบพักพิงอยู่ในพื้นที่ โดยจะใช้สถานที่ บ้านเช่า รีสอร์ท หรือ โรงแรม  เพื่อรอการส่งต่ออีกทอดหนึ่งไปยังพื้นที่ตอนกลางของประเทศไทย ไปยังอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว หรือชายแดนจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  เพื่อลักลอบข้ามแดนกลับประเทศของตนเองต่อไป  

และกลุ่มขบวนการนำพาบุคคลต่างด้าวสัญชาติเมียนมาร์ โดยจะมีจุดพักหลักในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง  คือพื้นที่ อำเภอหาดใหญ่ และอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ก่อนจะมีกลุ่มนำพารับส่งอีกทอดหนึ่งไปยังพื้นที่ จังหวัดระนอง  เพื่อเดินทางไปประเทศเมียนมาร์ต่อไป 

ทั้งนี้ พลโทเกรียงไกร  ศรีรักษ์  แม่ทัพภาคที่ 4  กล่าวว่า การควบคุมสกัดกั้น บุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ได้มีการกวดขันจับกุมขบวนการนำพาบุคคลต่างด้าว ด้วยการเพิ่มความเข้มงวดและควบคุมการปฏิบัติตามแนวชายแดน รวมทั้งเพิ่มมาตรการสกัดกั้นให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยได้จัดตั้งที่บังคับการทางยุทธวิธี ดูแลพื้นที่ตำบลปาเสมัส อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เพื่อ   พื้นที่อำเภอตากใบ อำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอแว้ง  เพิ่มเติมด้วยการลาดตระเวนอย่างเข้มข้นทุกตารางนิ้ว  เสริมด้วยการสกัดกั้นทางน้ำ และเฝ้าตรวจแนวชายแดน ตลอด 24   ชั่วโมง โดยได้บูรณาการกำลังและเครื่องมือกับทุกภาคส่วน  ในการบังคับใช้กฎหมายตามแนวชายแดนอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้เสริมกำลังตามแนวชายแดน เฝ้าระวังป้องกันจุดล่อแหลมที่เป็นช่องทางข้ามแดนตามธรรมชาติทั้งทางบกและทางน้ำ  โดยเขตแดนแนวลำน้ำ ใช้กำลังชุดปฏิบัติการทางน้ำ ประสานงานร่วมกับทหารเรือ และตำรวจน้ำในการลาดตระเวนทางเรือ สำหรับในพื้นที่ป่าเขา  จัดกำลังกองร้อยเฉพาะกิจ เสริมการปฏิบัติงานของกำลังป้องกันชายแดน  เพิ่มเติมด้วยชุดปฏิบัติการจรยุทธ์  เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ ที่พบการลักลอบหลบหนีเข้าเมือง รวมถึงเสริมระบบไฟส่องสว่าง  และเครื่องกีดขวาง  ปิดช่องทางธรรมชาติที่ผิดกฎหมาย  ตลอดจนซ่อมแซมรั้วชายแดนที่ถูกทำลาย นอกจากนี้ในช่องทางที่มีชุมชนหรือหมู่บ้านอาศัยอยู่ใกล้แนวชายแดน  ได้จัดตั้ง จุดตรวจ จุดสกัด รวมทั้งจัดตั้งแหล่งข่าว  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสกัดกั้น  การลักลอบการหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย  ส่วนการดูแลพื้นที่ตอนใน ใช้การบูรณาการกำลังร่วมกันกับภาคส่วนต่างๆ ทั้ง ทหาร ตำรวจ ปกครอง และ อสม. ค้นหาเชิงรุกในชุมชนและหมู่บ้าน  ตลอดจนสร้างความร่วมมือกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  และจัดตั้งเครือข่ายภาคประชาชน   เฝ้าระวัง เป็นหูเป็นตา ช่วยกันสกัดกั้นป้องกันตามแนวชายแดนเสริมอีกทางหนึ่ง  พร้อมชี้แจง สร้างความเข้าใจให้ประชาชน ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่อง  การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 เพื่อ “ตัดต้นตอของขบวนการนำพา”  และเพิ่มประสิทธิภาพในการสกัดกั้นการลักลอบการหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย 

ทั้งนี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า  ได้ยกระดับมาตรการควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019  ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน  ควบคู่กับการสร้างความปลอดภัยในชีวิต  และทรัพย์สินให้กับพี่น้องประชาชน จึงขอความร่วมมือ ร่วมกันตรวจตรา สอดส่องบุคคล ที่ฝ่าฝืนมาตรการควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หากพบเห็นโปรดแจ้งได้ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงหรือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ได้ทันที หรือโทรเข้ามายังหมายเลขสายด่วนแม่ทัพภาคที่ 4 ได้โดยตรง  ที่หมายเลข 0611732999 อย่าเห็นแก่ประโยชน์เล็กน้อยที่จะได้รับ ขอให้ช่วยกันเป็นหูเป็นตา แจ้งเจ้าหน้าที่ทันทีหากพบเห็น เพื่อช่วยให้ประเทศของเราข้ามผ่านวิกฤต โควิด – 19  ระลอกใหม่นี้ไปด้วยกัน





ภาพ/ข่าว อับดุลหาดี  เจณะยอ  จ.ยะลา

ขับเคลื่อนโดย Blogger.