Header Ads

 


กำแพงเพชร - สถานีควบคุมไฟป่าคลองวังเจ้า ไม่อยู่เฉย ยามว่างจากภารกิจดับไฟป่า ให้เจ้าหน้าที่ร่วมกันปลูกพืชผักสวนครัว ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

นายสมศักดิ์ กาญจนะคช หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าคลองวังเจ้า จังหวัดกำแพงเพชร สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงได้พระราชทานแนวทางการสร้างพื้นฐานความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชน เพื่อให้พึ่งตนเองได้  ซึ่งจะเป็นทางออกสำหรับวิกฤตโรคระบาด และปัญหาต่างๆที่ประเทศไทยในปัจจุบันที่กำลังเผชิญอยู่

โดยหัวหน้าสถานีฯ ได้ส่งเสริมเชิญชวนให้เจ้าหน้าที่ของสถานีฯ  ทุกคน มาร่วมกันจัดทำโครงการสวนเกษตรไฟป่าคลองวังเจ้า โดยใช้พื้นที่ว่างบริเวณที่ทำการของสถานีฯ เป็นสถานที่ดำเนินการ

ได้เริ่มดำเนินการเมื่อ เดือน กุมภาพันธ์ 2563 ต่อเนื่องเรื่อยมา โดยขั้นตอนการดำเนินการ เริ่มจากหัวหน้าสถานีฯ ทำการพูดคุยหารือกับเจ้าหน้าที่ ถึงแนวคิดจะทำการพัฒนาภูมิทัศน์บริเวณสถานีฯในส่วนที่เป็นพื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียว และตกแต่งให้สดชื่น สวยงาม สร้างสภาพแวดล้อมให้สถานที่ทำงานน่าอยู่ และสร้างพื้นฐานความพอมี พอกิน พอใช้ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวัน จนทุกคนเห็นด้วย จากนั้นจึงได้ร่วมกันใช้เวลาว่างจากภารกิจงานปกติมาวางแผนและเริ่มดำเนินการ เตรียมดิน เตรียมแปลง เตรียมค้างปลูก เตรียมเมล็ดพันธ์ุ เตรียมต้นกล้า รวมถึงเตรียมวัสดุบำรุงดิน  จากนั้นจึงเริ่มปลูก และบำรุงดูแลอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา



เมื่อเวลาผ่านมา ปรากฏว่าได้ผลผลิตจากพืช และผักที่ปลูกตามเป้าหมาย จนสามารถนำไปบริโภคในครัวเรือน ช่วยลดค่าใช้จ่ายแก่เจ้าหน้าที่ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในขณะนี้ได้ดียิ่ง

พืชและผักสวนครัว ที่ปลูกมีจำนวน 28 ชนิด ประกอบด้วย ข่า  ตะไคร้   กะเพรา  มะเขือยาว  มะเขือเจ้าพระยา  มะเขือเปราะ  มะเขือกรอบ  มะเขือเทศ  พริก  ข้าวโพดหวาน  กล้วยน้ำว้า  โหระพา  ใบแมงลัก  น้ำเต้า  ถั่วฝักยาว  มะละกอ  ฟักทอง  คะน้า  มะเขือพวง  กวางตุ้ง  ผักบุ้ง  มะระ  มะเขือม่วง  ผักชี  บวบเหลี่ยม  ชะอม  บวบงู  หอมแดง เป็นต้น



นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผอ. สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12(นครสวรรค์) ได้ไปเยี่ยมหน่วยงาน และกล่าวชื่นชมว่า เป็นโครงการที่ดีมาก เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุด  ช่วยลดรายจ่ายในการดำรงชีวิตให้ครัวเรือน และสร้างการเป็นอยู่แบบวิถีชีวิตที่เรียบง่าย สามารถพึ่งตนเอง รวมทั้งเป็นการสร้างความสามัคคีแก่เจ้าหน้าที่สถานีฯ ทุกระดับ อีกทั้งยังสามารถพัฒนาต่อยอดกลายเป็นแหล่งเรียนรู้แก่นักเรียนและประชาชนทั่วไป เท่ากับเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยในที่สุแจะได้แนวร่วมในการช่วยกันป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าได้อย่างยั่งยืนในอนาคตด้วย

ภาพ/ข่าว  นายสมศักดิ์  กาญจนะคช
อัมพณ จับศรทิพย์ รายงาน
ขับเคลื่อนโดย Blogger.