Header Ads

 


"ชาวล้านนาตำบลท่าขุนรามสืบสานประเพณีงานกินข้าวสลาก ประชาชน 5 หมู่บ้านจัดขบวนก๋วยร่วมงานอย่างสวยงาม"

 



 "ชาวล้านนาตำบลท่าขุนรามสืบสานประเพณีงานกินข้าวสลาก ประชาชน 5 หมู่บ้านจัดขบวนก๋วยร่วมงานอย่างสวยงาม"

        เมื่อวันที่ 29 ก.ย.66 ที่วัดบ้านใหม่สุวรรณภูมิ ต.ท่าขุนราม อ.เมือง จ กำแพงเพชร นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เป็นประธานนำหัวหน้าส่วนราชการ พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชน ร่วมพิธีทำบุญตักบาตร ตามโครงการผู้ว่าพาทำบุญ  และในช่วงสาย นายบุญช่วย หอมยามเย็น รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ได้เป็นประธานเปิดงานประเพณีตานก๋วยสาก โดยมีนายวิชัย พรกระแส ท้องถิ่นจังหวัดกำแพงเพชร นายโชคชัย รักเกื้อ นายอำเภอเมืองกำแพงเพชร  สจ.กมล สิมเมือง นายประจวบ ชมพู นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าขุนราม นายประจวบ ทองเสน กำนันตำบลท่าขุนราม พร้อมด้วยชาวบ้านจำนวนกว่า 1,000 คนเข้าร่วมประเพณีในครั้งนี้

      นายประจวบ ชมพู นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าขุนรามได้จัดสรรงบประมาณให้แต่ละหมู่เพื่อ นำไปตกแต่งก๋วยใหญ่ให้สวยงามแล้วแห่เป็นขบวนเข้าไปในวัดเพื่อ รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและความสามัคคีในชุมชนด้วย

        ประเพณีกินข้าวสลากนั้นเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่สืบสานต่อกันมาจากบรรพบุรุษซึ่งเป็นความเชื่อของคนเหนือว่า ในวันกิ๋นข้าวสลากซึ่งจะตรงกับวันพระ ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ หรือญาติ ที่ล่วงลับไปแล้ว จะลงมารับส่วนบุญส่วนกุศลที่ลูกหลานจะถวายเป็นก๋วยสลากไปให้ โดยนำปัจจัยเข้าของเครื่องใช้ อาหารการกินขนมและข้าวของเครื่องใช้ที่ผู้ล่วงลับชื่นชอบในครั้งยังมีชีวิตอยู่นำมาใส่ในก๋วยสลากและนำไปถวายให้กับพระในวัดเพื่อทำพิธีอุทิศก๋วยสลากนั้นให้กับดวงวิญญาณผ่านทางพระสงฆ์

        ซึ่งประเพณีนี้ชาวบ้านที่เป็นคนเหนือโดยเฉพาะคนในตำบลท่าขุนรามจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในวันพระที่อยู่ในช่วงเข้าพรรษา โดยแต่ละครอบครัวจะทำก๋วยสลากเรียกว่าก๋วยเล็กเป็นชะลอมไม้ไผ่ข้างในจะบรรจุอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน ข้าวสาร หอมกระเทียม ผลไม้ ต่างๆจำนวนก๋วยของแต่ละครอบครัวที่จะนำมาถวายก็ตามแต่จะถวายให้บรรพบุรุษของตนเองกี่คนซึ่งจะถวายก๋วยละ 1 คน ดังนั้นบางครัวเรือนจะทำมากกว่า 20  ก๋วย ขึ้นไป นอกจากก๋วยเล็กแล้วยังมีก๋วยอุ้มซึ่งจะเป็นก๋วยขนาดใหญ่ขึ้นใช้ไม้ไผ่สานเป็นก๋วยขนาดพอคนอุ้มไปวัดไหว ข้างในก็จะบรรจุข้าวของเครื่องใช้เหมือนกันส่วนยอดก๋วยก็จะเป็นเงินที่เสียบเป็นยอดปัจจัยในแต่ละก๋วยแล้วแต่กำลังศรัทธาของครอบครัวนั้นๆ

      ขั้นตอนการทำพิธีก็คือแต่ละก๋วยจะมีเส้นซึ่งเป็นกระดาษเขียนว่าอุทิศส่วนกุศลก๋วยนี้ไปให้ใครโดยจะนำเส้นไปรวมไว้ที่วัดเมื่อถึงเวลาพระก็จะนำเส้นมาอ่านว่าเป็นของญาติโยมคนไหนและถวายไปให้ผู้ล่วงลับชื่ออะไรเจ้าของเส้นก็มีหน้าที่ นำเอาก๋วยไปให้พระสงฆ์ที่ถือเส้นของเราและทำพิธีกวดน้ำอุทิศส่วนกุศลขานชื่อของผู้ที่ล่วงลับไปแล้วให้มารับเอาบุญกุศลในครั้งนี้

      ซึ่งงานกิ๋นข้าวสลากของชาวตำบลท่าขุนรามนอกจากจะมีก๋วยอุ้มก๋วยเล็กแล้วยังมีก๋วยใหญ่ซึ่งแต่ละหมู่บ้านจะร่วมแรงร่วมใจกันตกแต่งประดับประดอยให้สวยงาม จากนั้นแต่ละหมู่บ้านก็จะนำก๋วยแห่ร้องรำทำเพลงเข้าไปรวมกันที่วัดโดยก๋วยใหญ่แต่ละก๋วยจะมียอดปัจจัยที่เป็นเงินแตกต่างกัน เมื่อนำก๋วยใหญ่เข้าไปในวัดแล้วก็จะถวายให้กับวัดยอดปัจจัยที่ได้ของแต่ละก๋วยใหญ่รวมกันแต่ละปีมียอดนับ 100,000 บาทขึ้นไปซึ่งเงินส่วนนี้ทางวัดจะได้นำไว้เป็นค่าใช้จ่ายของวัดและทะนุบำรุงวัดในโอกาสต่อไป

สุเทพ อินทจันทร์ รายงาน







ขับเคลื่อนโดย Blogger.