ตำรวจสอบสวนกลางร่วม อย.ทลายโรงงานผลิตลูกชิ้นเถื่อนส่งทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล กว่า 41 แห่ง ยึดของกลางกว่า 20 รายการ
ตำรวจสอบสวนกลางร่วม อย.ทลายโรงงานผลิตลูกชิ้นเถื่อน
ส่งทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล กว่า 41 แห่ง ยึดของกลางกว่า 20 รายการ
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., ว่าที่ พ.ต.อ.สุพจน์ พุ่มแหยม ผกก.4 บก.ปคบ., สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ภก. วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงาน กรณีทลายโรงงานลูกชิ้นเถื่อนย่าน ต.คลองหลวง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ตรวจยึดอายัดของกลางกว่า 20 รายการ
สืบเนื่องจากเมื่อประมาณปลายเดือนมกราคม 2565 ปรากฏข่าวมีเด็กจำนวน 6 คน ได้รับประทานไส้กรอกไม่มียี่ห้อ แล้วมีอาหารคลื่นไส้ เวียนศีรษะ หายใจเร็ว และเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล จากเหตุการณ์ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ อย. สืบหาแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว นำไปสู่การร่วมกับ อย. นำกำลังเข้าตรวจค้นโรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 ยึดอายัดของกลาง 32 รายการ มูลค่า กว่า 700,000 บาท
จากเหตุการณ์ดังกล่าว จึงนำมาสู่การมาตรการเชิงรุก เพื่อป้องกันเหตุไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอีก โดยมีการติดตามเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารที่มีความเสี่ยงต่อผู้บริโภค ที่อาจซื้อมารับประทานและได้รับอันตรายแก่ร่างกายหรือเสียชีวิต โดยต่อมาจากการสืบสวนหาข่าว พบว่ามีโรงงานผลิตลูกชิ้นเถื่อนแห่งหนึ่ง ย่าน จ.ปุทมธานี มีการลักลอบผลิตลูกชิ้นหมูจำนวนมากในสถานที่ไม่ถูกสุขลักษณะ แพ็คบรรจุส่งขายตามตลาดนัดใน กรุงเทพฯ และปริมณฑลหลายแห่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการลงพื้นที่สืบสวนจนทราบถึงแหล่งผลิตลูกชิ้นดังกล่าว
ต่อมาวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ได้สนธิกำลังกับ เจ้าหน้าที่ อย. นำหมายค้นศาลจังหวัดธัญบุรี ที่ 48/2566 ลง วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 เข้าทำการตรวจค้นโกดังเก่าที่ดัดแปลงเป็นโรงงานผลิตลูกชิ้น หมู่ 2 ต.คลอง 4 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี พบนาย สัมฤทธิ์ (สงวนนามสกุลจริง) แสดงตนเป็นเจ้าของกิจการผลิตผลิตภัณฑ์ ลูกชิ้นยี่ห้อ “จ๊ะเอ๋” โดยได้ตรวจยึดของกลาง ได้แก่ 1.) ผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นบรรจุถุง กว่า 30 ถุง, 2.) เนื้อไก่และเนื้อหมูสดที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต, 3.) Sodium benzoate (วัตถุกันเสีย) จำนวน 12 กิโลกรัม, 4.) บรรจุภัณฑ์และส่วนผสมต่างๆ ที่เป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 กว่า 20 รายการ รวมถึงได้ปิดโรงงานและอายัดผลิตภัณฑ์ลูกชิ้น,เนื้อสัตว์ที่กำลังแปรรูป, ส่วนผสมต่างๆ และเครื่องจักรในการผลิต อีก 3 รายการ
โดยในการตรวจค้นครั้งนี้ ยังพบอีกว่า กระบวนการผลิตลูกชิ้นหมูดังกล่าวขาดสุขลักษณะไม่ผ่านเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด โดยผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นหมูที่มีการโฆษณาว่าเป็นเนื้อหมูแท้นั้น เจ้าของโรงงานได้ลักลอบนำเนื้อไก่มาผสมกับเนื้อหมูเพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิต ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดและ อาจซื้อไปบริโภคได้โดยไม่ทราบถึงส่วนผสมที่แท้จริงของอาหารที่รับประทานเข้าไป
และจากการตรวจสอบสถานที่ผลิตแห่งนี้ตามหลักเกณฑ์ GMP พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์ และพบว่าโรงงานดังกล่าว ไม่มีการควบคุมการผลิตในกรณีที่มีการใช้วัตถุเจือปนอาหาร อย่างเหมาะสม อีกทั้งขั้นตอนการผลิตไม่เข้าข่ายโรงงานตามกฏหมาย โดยจากการนำส่วนผสมที่พบในโรงงานมาตรวจสอบกับชุดทดสอบสารปนเปื้อนบอกแรกซ์ในเบื้องต้น พบผลเป็นบวก สันนิษฐานว่าผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นที่ผลิตในโรงงานดังกล่าวอาจมีสาร บอแรกซ์ปนเปื้อนอยู่ในลูกชิ้นที่ส่งขายให้กับผู้บริโภค
โดยนาย สัมฤทธ์ฯ รับสารภาพว่า ได้ทำการผลิตลูกชิ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจาก อย.และ สสจ.ปทุมธานี แต่อย่างใด โดยลูกชิ้นหมูยี่ห้อดังกล่าวไม่แสดงเลขสารบบอาหาร (ไม่ผ่าน อย.) โดยเนื้อหมูและเนื้อไก่ที่ใช้เป็นวัตถุดิบ นายสัมฤทธิ์ฯ ซื้อมาจากตลาดนัดทั่วไป ส่วน Sodium benzoate (วัตถุกันเสีย) นั้น ซื้อมาจากร้านค้าแห่งหนึ่งย่านเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร จากนั้นจะนำส่วนผสมต่างๆ มาผลิตเป็นลูกชิ้นที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่งขายให้ลูกค้าตามตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จ.ปทุมธานี, จ.นนทบุรี และ สมุทรปราการ กว่า 41 แห่ง โดยรับว่าทำมาแล้วเป็นเวลา 2 ปี โดยจำหน่ายผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นวันละประมาณ 300-800 กิโลกรัม
จากการตรวจสอบบัญชีลูกค้าเพิ่มเติมพบหลักฐานบิลใบเสร็จลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 มีการส่งลูกชิ้นไปยัง รร.นานาชาติแห่งหนึ่ง ในจังหวัดปทุมธานี จำนวน 65 กิโลกรัม โดยในเบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เร่งประสานไปยังโรงเรียนดังกล่าวให้งดการนำลูกชิ้นหมูดังกล่าวมาประกอบอาหารให้กับเด็กนักเรียนแล้ว
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522
1. ฐาน “ผลิตอาหารปลอม” ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท
2. ฐาน“ผลิตเพื่อจำหน่ายอาหาร โดยสถานที่ผลิตอาหารไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดี (GMP)” ระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
3. ฐาน “ผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท
ทั้งนี้ได้เก็บตัวอย่างอาหารเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ หาสารบอแรกซ์ ชนิดและปริมาณวัตถุกันเสีย และจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากพบสารต้องห้ามในอาหารเพิ่มเติม จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ฐาน“ผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์” ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าอย่าซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ทราบที่มาของแหล่งผลิต ไม่ว่าจะเป็นการซื้อจากร้านค้าทั่วไป หรือแหล่งขายทางออนไลน์ เพราะอาจเกิดอันตรายจากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค และขอเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบผลิตหรือจำหน่ายอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตหรือตัวแทนจำหน่าย ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด และหากพี่น้องประชาชนพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน บก.ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา
“ผู้ต้องหาหรือจําเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคําพิพากษาถึงที่สุด”
************************************