‘อิตาเลียนไทย’สวนกลับบอร์ดอุทธรณ์ฯ เหตุประมูลโรงน้ำมหาสวัสดิ์...
นายดนัย ภูมิวัฒน์ รองประธานบริหารกลุ่มงานระบบจ่ายน้ำและสาธารณูปโภค บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เปิดเผยว่า เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีและความถูกต้องตามหลักวิศวกรรมประปาและเพื่อไม่ให้เป็นบรรทัดฐานที่คลาดเคลื่อนและขัดแย้งกับหลักวิศวกรรม เมื่อไม่เข้าใจหรืออาจจะไม่รู้ควรหาข้อมูลหรือให้ผู้รู้ให้ข้อมูลชี้แจง ไม่ใช่ตีความจากดุลยพินิจที่ผิดพลาด จากกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ได้มีหนังสือ กค (กอร)0405.5/14496 แจ้งผลการอุทธรณ์กรณีการประกาศผู้ชนะการเสนอราคา ตามประกาศ กปน. และเอกสารรายชื่อผู้ชนะประมูลงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง สัญญา GE-MS5/6-9 ด้วย วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) มายังผู้ว่าการการประปานครหลวง หรือ กปน. โดยระบุว่า การอุทธรณ์ฟังขึ้น และมีผลต่อการจัดซื้อและจัดจ้างอย่างมีนัยสำคัญ “ITD ขอตั้งข้อสังเกตว่า คณะอนุกรรมการอุทธรณ์ฯชุดนี้ อาจจะขาดข้อมูลและความเข้าใจทางด้านวิศวกรรมประปาที่ขาดเคลื่อน ทำให้ข้อเท็จจริง เช่นนิยามของกำลังผลิตน้ำประปา หรือ water supply plant capacity ซึ่งหมายถึง ปริมาณน้ำประปาที่ผลิตได้จากกระบวนการผลิต ซึ่งได้หักปริมาณน้ำสูญเสียต่าง ๆ ในกระบวนการผลิตแล้ว หรือในกรณีถ้าพิจารณาตามคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เกิน 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน คือ ปริมาณน้ำดิบที่ไม่ได้ผ่านกรอบระบบผลิตน้ำประปา จึงไม่ตรงข้อกำหนดของกปน. ตั้งแต่แรก เพราะในการผลิตน้ำประปาของหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น การประปาส่วนภูมิภาคสาขา สุราษฎร์ธานี และของการประปาเทศบาลนคร นครราชสีมา จำนวน 105,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน คือ น้ำดิบ น้ำจากแหล่งน้ำ แม่น้ำ และนำมาผลิตเป็นน้ำประปาได้ 96,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน”นายดนัย ได้กล่าวถึงสังเกตอีกประการ คือ คณะอนุกรรมการอุทธรณ์ฯ ได้จัดให้มีการประชุมพิจารณาจริงหรือไม่ ทั้งประชุมวันที่เท่าไร เข้าประชุมกี่ท่าน ใช้เวลากลั่นกรอง ผลสรุปผลประชุมเป็นอย่างไร และจริงหรือไม่ ในคณะอนุกรรมการชุดนี้ มีประเด็นสงสัยตรงไหนไม่ตรงกัน ที่สำคัญมีการเชิญกปน. มาชี้แจงข้อสงสัยในจุดที่ไม่เข้าใจหรือไม่รู้บ้าง อีกทั้งยังตีความจากอะไร เอกสารของกปน.ชี้แจงที่ทำขึ้นและจัดส่งไปให้ไม่ละเอียดพอใช่ไหม พร้อมขอให้เปิดเผยเอกสารที่ กปน.ส่งไป และ คำวินิจฉัยออกมาว่า สอดคล้องกับเอกสารชี้แจง กปน. นายดนัย กล่าว“คำตอบของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ทำให้สังคมเกิดความสงสัยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะข้อกำหนด TOR ข้อ 2.11 กปน. กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีผลงานก่อสร้างระบบตกตะกอนและระบบกรองน้ำสำหรับระบบผลิตน้ำประปา พร้อมงานที่เกี่ยวข้องขนาดไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันในสัญญาเดียวกัน วงเงินไม่น้อยกว่า 300,000,000 บาท นั้น ถูกต้องและชัดเจนโดยไม่ต้องตีความ และบริษัทที่ยื่นเสนอทุกรายก็มีความเชี่ยวชาญในระบบผลิตประปา และย่อมทราบดีอยู่แล้วว่า หลักวิศวกรรมประปาที่ถูกต้องคืออะไร นี่คือข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ ทาง กปน.ไม่ได้ใช้ดุลพินิจที่ผิดพลาด แต่ใช้หลักวิศวกรรมประปาที่เป็นมาตรฐานทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงอยากให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง แก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน ซึ่งคาดว่า ความจริงทั้งหมดจะถูกเปิดเผยในเวลาไม่ช้านี้” นายดนัย กล่าวทิ้งท้าย