Header Ads

 


องค์ประชุมครบ ฟังความ 2 ข้างเพื่อความเป็นธรรม



ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันศุกร์ที่ 1 เมษายน 2565 เวลา 17.00 น. ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 2 อาคารสำนักงาน ก.พ. (เดิม) นายมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหากรณีขอให้ทบทวนการดำเนินการสรรหาข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด พนักงานเทศบาล พนักงานเมืองพัทยา ให้ดำรงตำแหน่งสายงานผู้บริหาร ร่วมกับผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้แทนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้แทนกลุ่มผู้ร้อง โดยมีนายพันศักดิ์ เจริญ รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านมวลชน นายฉลองกรุง ภคกุล หัวหน้าฝ่ายองค์กรประชาชน 2 และเจ้าหน้าที่ส่วนประสานมาลชนและองค์กรประชาชน ศูนย์บริการประชาชน ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ


ในที่ประชุมมีการสอบถามซักถามข้อ และตอบคำถาม สงสัยต่างๆ จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าก่อนหน้านี้ทาง กรรมาธิการ กระจายอำนาจก็ได้ตั้งข้อสงสัย สอบถามผู้ถูกร้องผู้เกี่ยวข้องและฟังคำตอบจำนวน 7 ข้อดังต่อไปนี้


1. กระดาษคำถาม ไม่ตรงกับที่ได้รับตอนเข้าสอบจริง

เมื่อกระบวนการสอบเสร็จสิ้นลง ข้อสอบจะถูกขนส่งไปยังโรงพิมพ์ด้วยรถขนส่งข้อสอบที่มีระบบป้องกันความปลอดภัยที่ได้รับมาตรฐาน และมีระบบ GPS เพื่อบันทึกเส้นทางที่ผ่าน เมื่อขนย้ายข้อสอบขึ้นบนรถขนส่งข้อสอบ ได้มีการล็อกประตูและใส่ Security Track ที่มีเลขแทร็ค ถ่ายรูปยืนยันโดยมีคณะกรรมการของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และคณะกรรมการของมหาวิทยาลัยฯร่วมเป็นพยาน โดยมีรถเจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาความปลอดภัยตลอดเส้นทางในการขนส่ง และจำกัดจำนวนจุดพักรถ ตามด้วยรถขนส่งข้อสอบ และเป็นรถของคณะกรรมการของกรมส่งเสริมฯและมหาวิทยาลัยฯตลอดเส้นทาง เมื่อมาถึงโรงพิมพ์ได้มีการตรวจเช็ค Security Track อีกครั้งเพื่อยืนยันว่าไม่มีร่องรอยการแกะระหว่างเดินทาง เมื่อย้ายข้อสอบลงจากรถได้มีการตรวจนับกล่องข้อสอบอีกครั้ง จากนั้นนำกระดาษคำถามจะจัดเก็บห้องมั่นคง และกระดาษคำตอบแยกไปเก็บที่ห้องตรวจข้อสอบ ทั้ง 2 ห้องจะปิดมิดชิด มีระบบป้องกันมิให้พนักงานที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าไปโดยเด็ดขาด เมื่อมีการแจ้งให้สืบค้นจะเข้าไปในห้องมั่นคงเพื่อทำการค้นหากระดาษคำถาม โดยมีเพียงพนักงานที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลจะเป็นผู้เข้าไปเท่านั้น ซึ่งทุกครั้งที่มีการแจ้งให้สืบค้น พนักงานคนดังกล่าวจะลงลายมือชื่อเข้า - ออกไว้ทุกครั้ง ซึ่งกระบวนการรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนาจากที่กล่าวมาข้างต้นนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่กระดาษคำถามจะไม่ใช่ฉบับเดียวกับชุดที่ผู้เข้าสอบใช้สอบจริง โดยทางโรงพิมพ์ได้ยืนยันว่างานผลิต จัดเก็บและตรวจข้อสอบได้ดำเนินการผลิตโดยป้องกันความผิดพลาด ในทุกขั้นตอนอย่างเข้มงวด ดังนั้นชุดกระดาษคำถามจึงเป็นชุดเดียวกันอย่างแน่นอน

2. กระดาษคำถาม ไม่ตรงกับตำแหน่งที่สอบ

ในกระบวนการผลิตข้อสอบได้มีการกำหนดเงื่อนไขของการผลิต โดยกำหนดจำนวนชุดข้อสอบปรนัยและกระดาษคำตอบในแต่ละตำแหน่ง จำนวน ๓ ฉบับ ต่อตำแหน่ง โดยสลับข้อสอบตามความเหมาะสม ซึ่งทางโรงพิมพ์ได้มีการชี้แจงกระบวนการผลิตตั้งแต่การพิมพ์ คือ การทำเล่มจะทำให้แล้วเสร็จทีละตำแหน่ง            ตามตำแหน่งที่เข้าสอบ โดยทางโรงพิมพ์มีเงื่อนไขในการดำเนินการทำแม่พิมพ์ (เพลท) 3 ชุด คือ ชุด A ชุด B ชุด C แล้วดำเนินการพิมพ์ทีละชุดข้อสอบตามลำดับ แล้วจึงดำเนินการเข้าเล่มและบรรจุลงกล่อง เช่น ทำชุด A      ให้แล้วเสร็จ จากนั้นจึงจะไปทำข้อสอบชุด B และชุด C ตามลำดับจนเสร็จสิ้น ซึ่งได้มีการระบุชุดกระดาษคำถามลงในกระดาษคำตอบที่มีการพิมพ์ข้อมูลของผู้เข้าสอบอย่างชัดเจน และได้มีการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนก่อนนำบรรจุลงซองและลงกล่องตามลำดับ ด้วยการอ่านคิวอาร์โค้ด (QR Code) จากนั้นเมื่อกระบวนการผลิตข้อสอบในตำแหน่งวิชานั้นเสร็จสิ้นแล้ว จึงจะทำการผลิตข้อสอบในตำแหน่งอื่นต่อไป ตามลำดับของการผลิตแต่ละตำแหน่ง

โดยชุดกระดาษคำถามและกระดาษคำตอบทั้งหมดหลังจากที่ได้เสร็จสิ้นจากการผลิตและการสอบจะถูกเก็บไว้ภายในห้องมั่นคง ตลอดจนเมื่อได้รับการแจ้งให้มีการสืบค้นชุดข้อสอบของผู้เข้าสอบบางท่านจึงมีพนักงานที่ได้รับมอบหมายเข้าไปยังห้องมั่นคงเพื่อสืบค้นเอกสารที่ได้รับการร้องขอให้มีการนำออกมาได้เท่านั้น

3. กระดาษคำถาม มีร่องรอยของการแก้ไข และมีการนำมาเย็บรวมใหม่

เนื่องจากโรงพิมพ์เป็นสถานที่จัดพิมพ์ข้อสอบ และสถานที่เก็บรักษาข้อสอบ จึงได้ขอให้โรงพิมพ์ชี้แจงในประเด็นนี้ ซึ่งมีข้อเท็จจริง ดังนี้

3.1 กรณีเย็บเล่มทำปกข้อสอบ ใช้การเข้าเล่มโดยเครื่องเข้าเล่มอัตโนมัติแล้ว จะมีการตรวจคุณภาพ 100% เมื่อพบว่ามีข้อสอบชำรุดซึ่งมีสาเหตุเกิดขึ้นได้หลายกรณี เช่น ปกขาดจากจังหวะเครื่องจักรดูดกระชาก กระดาษขาดหรือทำให้ตัวหนังสือเอียง หมึกที่พิมพ์สีจางบางช่วงทำให้มองตัวอักษรไม่ชัด การเข้าเล่มโดยเครื่องอัตโนมัติเข้าเล่มเบี้ยว เป็นต้น ขั้นตอนการซ่อมจะทำโดยการถอดลวดเย็บกระดาษ เปลี่ยนปกข้อสอบและเย็บเล่มอีกครั้งโดยพนักงานแบบ manual จึงทำให้บางเล่มข้อสอบมีรูการเย็บเข้าเล่มมากกว่า 2 จุด การซ่อมงานตามลักษณะที่กล่าวมา จะมีจำนวนโดยประมาณ 5% จากยอดพิมพ์ทั้งหมด 

3.2 กรณีสืบค้นข้อมูล พนักงานจะดำเนินการนำกระดาษคำถามที่ถูกร้องขอให้สืบค้นมาถอดลวดเย็บกระดาษ และถ่ายเอกสารเก็บไว้เพื่อเป็นหลักฐาน แล้วดำเนินการเย็บเล่มกลับไปใหม่อีกครั้ง เป็นสาเหตุให้มีรูเย็บกระดาษมากกว่า 2 จุดได้ 

4. ผลคะแนนไม่ตรงกัน โดยคะแนนที่ประกาศทางเว็บไซต์กับคะแนนที่ประกาศที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไม่ตรงกัน

เกณฑ์การให้คะแนนอัตนัย

มหาวิทยาลัยฯ กำหนดเกณฑ์การตรวจกระดาษคำตอบ โดยมีกรรมการ 3 ท่าน ในการตรวจข้อสอบแบบอัตนัย กำหนดสัดส่วนการให้คะแนนไว้ คือ หัวหน้าทีม 40 คะแนน กรรมการ 2 ท่าน  ท่านละ 30 คะแนน ซึ่งสัดส่วนคะแนนจะเป็น 40:30:30 รวมเป็น 100 คะแนน แล้วคูณด้วย 0.3 จะได้คะแนนเต็ม 30 คะแนน โดยมาจากการปรับค่าคะแนนของกรรมการจำนวน 3 ท่าน กับคะแนนเต็มที่กำหนดให้เป็นฐานเดียวกัน ด้วยการนำคะแนนเต็มที่กำหนดไว้ 30 คะแนน หารด้วย 100 ซึ่งก็คือค่าคะแนนรวมกันของกรรมการทั้ง 3 ท่าน ก็จะได้เศษสามส่วนสิบ หรือเท่ากับค่าทศนิยม 0.3

เช่น ถ้าหากกรรมการให้คะแนนเป็นสัดส่วน 32:25:27 ค่าคะแนนรวมจะได้ 87 เมื่อนำมาคูณด้วย 0.3 ก็จะได้คะแนนเป็น 26.1 คะแนน

5. ประเด็นการเฉลยคำตอบที่ผิดพลาดทำให้มีผลต่อคะแนนรวมของผู้เข้าสอบ

จากข้อร้องเรียนดังกล่าวทางมหาวิทยาลัยฯขอชี้แจงว่า จากการตรวจสอบข้อสอบในข้อดังกล่าวตามที่ผู้ร้องเรียนได้กล่าวถึงนั้นปรากฎว่าไม่มีการเฉลยคำตอบที่ผิดพลาดแต่ประการใดและในการอนุโลมให้คะแนนผู้เข้าสอบได้คะแนนฟรีในข้อนั้น ๆ จะมี 2 กรณี ดังนี้

1. กรณีที่ข้อสอบข้อนั้นไม่มีตัวเลือกใดถูกต้อง

2. กรณีที่ตรวจสอบเฉลยแล้วพิสูจน์ได้ว่า ไม่มีตัวเลือกใดถูกต้อง

ทางมหาวิทยาลัยฯขอยกตัวอย่างข้อสอบที่มีการกล่าวอ้างว่ามีการเฉลยผิดโดยมีรายละเอียด ดังนี้

ตำแหน่งใดที่นายกเมืองพัทยาไม่อาจแต่งตั้งได้ 

 ก. ผู้ช่วยนายกเมืองพัทยา

 ข. ผู้ช่วยเลานุการนายกเมืองพัทยา

ค. ประธานที่ปรึกษา

 ง. ที่ปรึกษา

 ดังนั้น เฉลยที่ถูกต้อง คือ ข้อ ก. ผู้ช่วยนายกเมืองพัทยา

6. กระดาษคำตอบมีการแก้ไข ซึ่งไม่ใช่การแก้ไขของผู้เข้าสอบ

เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการสอบ กระดาษคำถามได้ถูกจัดเก็บอยู่ในห้องมั่นคง ส่วนกระดาษคำตอบปรนัยแยกไปเก็บที่ห้องตรวจข้อสอบ โดยในการตรวจนั้นจะเป็นการใช้เครื่องตรวจกระดาษคำตอบด้วยระบบการตรวจแบบ Scanner จึงไม่มีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดได้และกระดาษคำตอบอัตนัยได้ถูกแยกนำมาตรวจโดยคณะกรรมการผู้ตรวจ และตัวกระดาษคำตอบของข้อสอบอัตนัยนั้นผู้เข้าสอบได้มีการฉีกมุมขวาบนของกระดาษที่มีข้อมูลของผู้เข้าสอบทั้งหมดออกก่อนส่งกระดาษคำตอบอัตนัยให้กับกรรมการคุมสอบแต่ละห้อง ในส่วนของกระบวนการขนย้ายข้อสอบจากสนามสอบกลับมายังโรงพิมพ์เพื่อตรวจกระดาษคำตอบนั้น

ได้ถูกบรรจุลงในซองที่ปิดผนึกโดยเทปรักษาความปลอดภัย และบรรจุลงกล่องที่มีเทปปิดฝากล่องอย่างมิดชิดและลำเลียงขึ้นรถขนส่งข้อสอบที่มั่นคง มิดชิด มีระบบป้องกันความปลอดภัยที่ได้รับมาตรฐาน และมีระบบ GPS เพื่อบันทึกเส้นทางที่ผ่าน ซึ่งได้มีการรายงานการแวะพักทุกครั้งตั้งแต่เริ่มจนถึงสถานที่เก็บข้อสอบ เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการตรวจกระดาษคำตอบจะถูกนำไปเก็บยังห้องมั่นคง หลังจากนั้นจะมีการนำกระดาษคำถามและกระดาษคำตอบออกมาจากห้องมั่นคงได้ก็ต่อเมื่อได้รับการแจ้งให้ทำการสืบค้นโดยผู้ดำเนินการคือพนักงานที่ได้รับมอบหมายและไม่มีประวัติการทุจริตมาก่อนเท่านั้น จึงไม่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการแก้ไขกระดาษคำตอบปรนัยและอัตนัยของผู้เข้าสอบเพราะในกระดาษคำตอบอัตนัยไม่มีข้อมูลใดที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของกระดาษคำตอบชุดนั้น ๆ

7. ลายมือชื่อของกรรมการผู้ตรวจข้อสอบ (อัตนัย) ที่กำหนดไว้ว่าต้องมีกรรมการตรวจข้อสอบ 3 คน แต่กลับเป็นลายมือชื่อเดียวกัน

การตรวจข้อสอบอัตนัย ทางมหาวิทยาลัยฯได้แต่งตั้งกรรมการผู้ตรวจข้อสอบ ซึ่งมีความชำนาญในแต่ละด้านของผู้ตรวจ โดยใน 1 กลุ่มกรรมการมีผู้ตรวจ 3 ท่าน กรรมการผู้ตรวจข้อสอบจะไม่สามารถรับรู้ว่าข้อสอบเป็นของผู้เข้าสอบรายใด ในประเด็นลายมือชื่อเดียวกันนั้น ไม่ได้ถูกระบุในขอบเขตงานจ้างฯว่าจะต้องลงลายมือชื่ออย่างไร ซึ่งการลงลายมือชื่อนั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของกรรมการแต่ละกลุ่มตรวจ



ขับเคลื่อนโดย Blogger.