Header Ads

 


ชลบุรี - GPC International ประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F


เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2565 ที่ อาคารอเนกประสงค์โรงเรียนบ้านบางละมุง ตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี นายวิวัฒน์ มหาผลศิริกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือเอฟ โดยมีนางรังษิยา กมลพนัส ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท เอเซียแล็ป แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด ,นางนางสิริมา กีรตยาคม นักบริหาร 14 ประจำผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ปฏิบัติงานที่ท่าเรือแหลมฉบัง หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน และชาวบ้านในพื้นที่ศึกษา โครงการ จาก 22 ชุมชน จาก อ.ศรีราชา และ อ.บางละมุง จำนวนกว่า 400 คน เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ภายใต้มาตราการ การป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
นางรังษิยา กมลพนัส ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท เอเซียแล็ป แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด กล่าวว่า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือเอฟ เป็นโครงการที่ การท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้เปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมในการพัฒนาท่าเทียบเรือเอฟ 1 และท่าเทียบเรือเอฟ 2 ในรูปแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี สำหรับเป็นท่าเทียบเรือขนส่งตู้สินค้า บนพื้นที่ประมาณ 690 ไร่ ความยาวหน้าท่ารวมทั้ง 2 ท่า ประมาณ 2,000 เมตร
การดำเนินโครงการดังกล่าวเข้าข่ายประเภทโครงการตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต ของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบ สิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ที่ระบุให้โครงการท่าเทียบเรือที่มีความยาวหน้าท่า ตั้งแต่ 300 เมตร ขึ้นไป หรือที่มีพื้นที่หน้าท่าเทียบเรือรวมตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตร ขึ้นไป ยกเว้นท่าเรือที่ชาวบ้านใช้สอยในชีวิตประจำวันและการท่องเที่ยว ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการ กิจการ หรือ
นางรังษิยา กล่าวต่อไปว่า การดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต ของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด ได้มอบหมายให้บริษัท เอเซีย แล็ป แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด ดำเนินการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ เพื่อเสนอต่อสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาตามขั้นตอนโดยได้ดำเนินการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 ในครั้งนี้
ในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ข้อมูลกับผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ศึกษาและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการกำหนดขอบเขตการศึกษาและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งรายละเอียดโครงการ อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ศึกษาและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการเสนอแนะความคิดเห็นต่อแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ เพื่อนำไปใช้ปรับปรุงขอบเขตและแนวทางการศึกษาฯ ให้มีความครอบคลุมและเหมาะสมมากที่สุด
สำหรับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในครั้งนี้ ส่วนใหญ่ประชาชนจะฝากถึงปัญหาเดิมๆที่จะส่งผลกระทบในอนาคต เช่น การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับน้ำทะเล-อากาศ , ปัญหาการจราจรในช่วงการก่อสร้าง , ปริมาณเลนตะกอน ,การตั้งคณะกรรมการร่วมในการติดตามการก่อสร้างโครงการ นอกจากนั้นทางบริษัทฯยังให้หน่วยงานทุกภาคส่วนที่สนใจในโครงการ สามารถร่วมเสนอแนะความคิดเห็นต่อแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ต่อเนื่องระหว่าง วันที่ 30 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565 (ต่อเนื่องอีก 15 วันหลังวันประชุมดังกล่าว)







ยืนยงค์ ยินดีทรง/รายงาน 

ขับเคลื่อนโดย Blogger.