Header Ads

 


ชลบุรี - บุญเครือ เขมาภิรัตน์ CEO “ศรีราชาคอนสตรัคชั่น” สร้างอาชีพแรงงานไทย งานก่อสร้างระดับโลก


ที่ บริษัท ศรีราชาคอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ตำบลสุรศักดิ์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี  นายบุญเครือ เขมาภิรัตน์ กรรมการผู้จัดการ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทำให้ภาคธุรกิจทั่วโลกต้องหยุดชะงัก ส่งผลให้แรงงานจำนวนมากต้องตกงาน แต่บริษัท ศรีราชาคอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) นอกจากจะไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 แล้ว ยังสามารถส่งแรงงานไทย รวมทั้งช่างฝีมือ ไปทำงานระดับโลก สร้างงานให้กับประชาชนในพื้นที่ ให้มีงานทำ มีรายได้เลี้ยงครอบครัว  โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้รับความไว้วางใจจากกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทั้งในประเทศญี่ปุ่น แอฟริกาและอีกหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งบริษัทฯยักษ์ใหญ่ของไทยหลายแห่งให้ดำเนินงานก่อสร้างทั้งโรงกลั่นน้ำมัน โรงงาน โรงไฟฟ้า หรือแม้แต่โรงงานถลุงเหล็ก จนสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศหลายพันล้านบาทต่อปี

“ซึ่งในแต่ละปีบริษัทฯ จะส่งแรงงานไทยเข้าทำงานก่อสร้างโรงงานในรูปแบบต่างๆ ในหลายประเทศ โดยเฉพาะที่เมืองมาดากัสการ์ ประเทศแอฟริกา ที่มีการว่าจ้างระยะยาวแบบรายปีจนสามารถสร้างงานให้แรงงานไทยได้หลายร้อยคน โดยที่บริษัทฯ ไม่มีการหักค่าหัวคิวหรือเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการเดินทางแต่อย่างใด”

นายบุญเครือ ให้เหตุผลที่ไม่เรียกเก็บเงินค่าเดินทางกับแรงงานเหล่านี้ว่า เพราะไม่ต้องการให้แรงงานต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อเป็นค่าใช่จ่ายในการทำงานเพื่อที่จะได้มีเงินส่งกลับบ้านเลี้ยงดูครอบครัวให้กินดีอยู่ดี ซึ่งในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ส่งแรงงานไปทำงานในประเทศต่างๆ ได้แล้วมากกว่า  5,000 คน ซึ่งค่าใช้จ่ายในการเดินทางทั้งหมดเป็นข้อตกลงระหว่างบริษัทฯ กับลูกค้าที่จะต้องเป็นผู้จ่ายค่าภาระในการเดินทาง ค่าที่อยู่และค่าอาหารเพื่อแลกกับแรงงานฝีมือที่สามารถทำงานได้อย่างดีเยี่ยม 

นายบุญเครือ เผยว่าสิ่งที่ทำให้บริษัท ศรีราชาคอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นที่ไว้ใจของนักลงทุนต่างชาติคือ 1.ความสามารถในการทำงานที่แล้วเสร็จได้ตามสัญญา 2.คุณภาพของงานที่ไม่เคยต้องกลับไปแก้ไข  3.การดำเนินธุรกิจที่ไม่ใช้เงินกู้จากแบงก์ทำสามารถบริหารจัดการได้อย่างเต็มที่ และ 4.การดูแลพนักงาน ทุกระดับให้อยู่ดีกินดีจนสามารถสร้างงานที่ดีเยี่ยมได้

โดยผลงานที่สามารถการันตีการเป็นบริษัทฯเต็งหนึ่งด้านงาน โครงสร้างขนาดใหญ่ เริ่มตั้งแต่ปี 2534 ที่มีโอกาสได้ร่วมก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันให้กับบริษัทไทยออยล์  ร่วมกับผู้รับเหมาจากประเทศญี่ปุ่น และยังได้รับความไว้วางใจให้ร่วมขยายโรงกลั่นนำมันเอสโซ่ ศรีราชา จนนำสู่การเปิดบริษัทฯ อย่างเป็นทางการในปี  2537  จากความชำนาญในเรื่องงานเหล็กและงานสร้างโรงกลั่น ยังทำให้ได้รับความไว้วางใจจากผู้คุมงานก่อสร้างในต่างประเทศจนมีงานอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน 

ส่วนงานก่อสร้างในประเทศไทยเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2540 จากการก่อสร้างโรงงานให้กับ บริษัท ไทยคอปเปอร์ จำกัด ,งานก่อสร้างโรงงานเบียร์ช้างที่ จ.กำแพงเพชร ไม่นับร่วมงานก่อสร้างโรงงานแยกแก๊สที่ประเทศกาตาร์ ซึ่งในครั้งนั้นได้นำแรงงานไทยไปทำงานมากกว่า 700 ชีวิตและก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ซูดาน  

“เมื่อ 12 ปีก่อนเราได้งานที่เมืองมาดากัสการ์ ประเทศแอฟริกา ที่มีการลงทุนกว่าแสนล้านบาท เราเอาคนไปสร้างโรงงานให้เขาเกือบ 3,000 คน โดยที่ไม่เก็บค่าเดินทางใดๆ และเมื่อปลายปี 64 ที่ผ่านมาเราก็ส่งแรงงานไปทำงานที่แอฟริกาใต้ แต่เกิดปัญหาเรื่องการระบาดของโอมิครอน จนต้องบินกลับประเทศเราก็ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด รวมทั้งค่ากักตัวจนได้รับคำชมจากหน่วยงานรัฐมากมาย” 

และในปี 2565 นี้ บริษัทฯ ยังมีงานก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ มูลค่าประมาณ 900 ล้านบาท หลังในปีที่ผ่านมาได้สร้างโรงงานที่มาบตาพุด จ.ระยอง และโรงงานที่ปราจีนบุรีจนแล้วเสร็จจนได้รับมอบหมายให้ก่อสร้างโรงงานที่ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นของกลุ่มทุนชาวออสเตรเลีย ที่มีมูลค่าอีกประมาณ 2,000 ล้านบาท  

นายบุญเครือ เผยถึงหลักในการดูแลพนักงานกว่า 2,200 คน ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะพนักงานระดับบริหารและวิศวกร คือการให้บุคลากรได้มีโอกาสเป็นเจ้าของบริษัทฯ โดยตนเองเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด เพื่อให้บุคลากรเหล่านี้ได้มีความมั่นใจเรื่องรายได้ที่จะสามารถพัฒนางานให้ได้มาตรฐานต่อไป 

ปัจจุบันบริษัท  ศรีราชาคอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) มีทั้งช่างเชื่อมที่มีความชำนาญและวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญ ขณะที่ได้มูลค่าโดยรวมของบริษัทฯ มีกว่า 4,000 ล้านบาท  ขณะที่การนำบริษัทฯ เข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เมื่อ 8 ปีก่อนล้วนเป็นไปตามความต้องการของพนักงานที่ในวันนี้ได้กลายเป็นพื้นที่สร้างความมั่นคงทางการเงินให้อีกด้วย

สัมภาษณ์ : นายบุญเครือ เขมาภิรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีราชาคอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)








ภาพ/ข่าว ยืนยงค์ ยินดีทรง

ขับเคลื่อนโดย Blogger.