Header Ads

 


คืบหน้าพัฒนา จชต. นายกรัฐมนตรี เยือนยะลา-ปัตตานี หารือส่วนราชการ ด้าน เลขาฯ ศอ.บต. ชี้ การพัฒนา จชต. ดีขึ้นตามลำดับ พร้อมเดินหน้าแผนประกบคนจน เพื่อแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรม



วันนี้ (15 ธ.ค. 2564) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ ลงพื้นที่ จ.ยะลาและปัตตานี เพื่อติดตามการดำเนินงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาในพื้นที่ จชต. โดยในส่วน จ.ยะลา วันนี้ นายกรัฐมนตรีและคณะ ร่วมประชุมหัวหน้าส่วนราชการ จ.ยะลา ณ ศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีพลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. นายภิรมย์ นิลทยา ผู้ว่าราชการ จ.ยะลา และหัวหน้าส่วนราชการเข้าร่วมประชุม 

สำหรับความคืบหน้าการดำเนินงานพัฒนาแก้ไขปัญหา จชต. เลขาธิการ ศอ.บต.รายงานตอนหนึ่งของการประชุมว่า ได้ดำเนินงานผ่านกลไก 2 ส่วนในการพัฒนา คือ ตามแผนบูรณาการแก้ไขปัญหา จชต. และกลไกคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนา จชต. (กพต.) ในส่วนการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในพื้นที่ สนับสนุนการฝึกทักษะเพื่อประกอบอาชีพอิสระ จำนวน 6,178 ราย สนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มอาชีพ ในชุมชน 2,952 ราย จัดส่งไปทำงานโรงงานในพื้นที่ 840 ราย นอกพื้นที่ 3,448 ราย 

เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวอีกว่า สำหรับการพัฒนาในระดับฐานราก ตั้งแต่ครัวเรือนจนถึงตำบล ศอ.บต. ขับเคลื่อนผ่านโครงการมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน พร้อมแก้ไขปัญหาระดับอนุภูมิภาค ได้เร่งแก้ปัญหาความยากจนแบบแม่นยำ ภายใต้โครงการนำร่อง 1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือนยากจน มอบข้าราชการและเจ้าหน้า ศอ.บต. จำนวน 319 คน ประกบครัวเรือนยากจนนำร่อง 379 ราย โดยใช้ข้อมูลคนจน (TPMAP) เพื่อกำหนดเป้าหมายเร่งด่วน ตามแผนโครงการปี 2565 ต่อเนื่องถึงปี 2566 มีเป้าหมายให้ครัวเรือนยากจนมากๆ พ้นเกณฑ์ความจน 5 มิติ ซึ่งร่วมผลักดันร่วมกับหน่วยงานบูรณาการด้านการพัฒนา 38 หน่วยงาน

นอกจากนี้ ศอ.บต. ยังผลักดันพื้นที่ จชต. ให้เป็น เมืองผลไม้ โดยในปี 2564 มีการส่งออกทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง ทั้งแบบสดและแปรรูปมูลค่ากว่า 5,747 ล้านบาท โดยผลักดันให้มีการจำหน่ายส่งออกทั้งตลาดภายในและภายนอกประเทศ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยการผลักดัน จชต.ให้เ








ป็นเมืองผลไม้นั้น เป็นการสร้างโอกาสให้คนในพื้นที่มีงานทำ กระจายรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ ยังส่งเสริมให้เป็นเมืองปูทะเลโลก นำร่องการเลี้ยงปู 34 ชุมชน 1,000 คน เริ่มเพาะเลี้ยงเมื่อเดือน ส.ค. 2564 ทยอยปล่อยพันธุ์ปู 7 แสนตัว รวมผลผลิต 220 ตัน มูลค่าประมาณ 50 ล้านบาท ในปี 2565 

อย่างไรก็ตาม ศอ.บต. ร่วมกับหน่วยงานราชการในพื้นที่ จชต. ยังร่วมขับเคลื่อนโครงการสำคัญและเห็นผลเป็นรูปธรรมอีกหลายโครงการ ประกอบด้วย การผลักดันพื้นที่ จชต. ให้เป็นเมืองปศุสัตว์ เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพ การผลักดันพืชพลังงาน การผลักดันการท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ในโครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ใน อ.เบตง จ.ยะลา ยกระดับการค้าชายแดน แผนการดูแลแม่และเด็กในพื้นที่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และโครงการอื่นๆ โดยร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่

ภาพ/ข่าว

อับดุลหาดี  เจ๊ะยอ  จ.ยะลา





ขับเคลื่อนโดย Blogger.