Header Ads

 


ชลบุรี - ผู้ประกอบการขนส่ง รวมกลุ่มรถบรรทุก เคลื่อนขบวนจี้รัฐบาลลดราคาน้ำมันแพง!!


เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ที่บริเวณลานจอดรถประตู 2 ท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี กลุ่มผู้ประกอบการขนส่งแหลมฉบัง  ได้ร่วมกันนำรถบรรทุกที่ใข้ในการขนส่ง  มาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อให้ภาครัฐ - ภาคเอกชน  ประชาชน และสื่อสาธารณะ ได้รับทราบถึงผลกระทบและความเดือดร้อน จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ส่งผลให้ผู้ประกอบการขนส่ง ไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนไหว  จึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อเรียกร้องและข้อเสนอแนะ ขอความเห็นใจจากหน่วยงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง

ทางด้าน  พ.ต.อ. จิราวัฒน์  ศักศรีวัฒนา   ผู้กำกับ สภ.แหลมฉบัง  ได้อ่านประกาศของทางจังหวัดชลบุรี  ให้ทราบข้อกฏหมาย ข้อกำหนดบังคับ การห้ามรวมกลุ่มชุมนุม ในช่วงสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งอาจมีความผิดทางกฏหมาย โดยให้เลิกการจัดกิจกรรมชุมนุมภายใน 30 นาที

ในขณะที่ทางด้าน นาง สุนีย์  ภูติวณิชย์  นายกสมาคมผู้ประกอบการขนส่งแหลมฉบัง  กล่าวว่า สมาคมฯ ได้ปฏิบัติตาม พรบ.การชุมนุมทางสาธารณะ เป็นการจัดกิจกรรมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นการใช้สิทธิของประชาชนภายใต้ขอบเขตการใข้สิทธิและเสรีภาพตามบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย  โดยทางสมาคมฯ ได้ทำหนังสือแจ้งมายังหน่วยงาน และตำรวจก่อน 24 ชั่วโมง เพื่อรับทราบ ก่อนการจัดกิจกรรมนี้แล้ว 

วัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และสื่อสาธารณะได้รับทราบถึงผลกระทบและความเดือดร้อนของประชาชนผู้บริโภคน้ำมัน และผู้ประกอบการขนส่ง โดยไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง  ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมครั้งนี้ จะปฏิบัติตามกฎหมาย พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน และประชาชนทั่วไปแต่อย่างใด

โดยทางกลุ่มผู้ประกอบการขนส่ง มีข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะดังนี้

1. ขอให้รัฐบาลและกระทรวงพลังงาน ตรึงราคาน้ำมันดีเซล (B7 หรือ B6) ราคาขายปลีก 25 บาท / ลิตร เป็นระยะเวลา 1 ปี ในช่วงสถานการณ์วิกฤตไวรัสโควิด-19 , วิกฤตสภาวะ เศรษฐกิจ และวิกฤตอุทกภัย ภัยพิบัติต่างๆ จนกว่าสถานการณ์ต่างๆ จะคลี่คลาย

2. ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อช่วยเหลือ ประชาชนในยางวิกฤต โดยหารายได้จากส่วนอื่นๆ มาทดแทน 

3. ปรับโครงสร้างราคาน้ำมันให้เป็นธรรม ยึดหลักธรรมาภิบาล ซื่อสัตย์ สุจริต ไม่เอาเปรียบ ประชาชนและผู้บริโภคน้ำมันในระบบผูกขาด ตัดตอนจนเกินไป 

4. ราคา ณ โรงกลั่น ต้องเท่ากับราคาสิงคโปร์ ที่ใช้เป็นฐานอ้างอิงน้ำมันสำเร็จรูป (ราคา ณ โรงกลั่นต้องเท่ากัน)

 5. ในสถานการณ์วิกฤตต่างๆ ต้องลดค่าการตลาดลงกึ่งหนึ่ง เพราะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ ราคาน้ำมันแพงเกินไป และเป็นการผลักภาระและสร้างกำไรทางธุรกิจที่ขาดหลักจริยธรรม และคุณธรรมทางธุรกิจกึ่งผูกขาด

สัมภาษณ์

1.นางสุนีย์  ภูติวณิชย์  นายกสมาคมผู้ประกอบการขนส่งแหลมฉบัง 

2.ผู้ประกอบการขนส่งที่ได้รับผลกระทบ




ภาพ/ข่าว ยืนยงค์ ยินดีทรง

ขับเคลื่อนโดย Blogger.