Header Ads

 


 ‘นิติธร’ เดินทางยื่นหนังสือต่อประธานศาลฎีกา เรียกร้องให้อำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน ปฏิรูปสถาบันตุลาการ และกระบวนการยุติธรรม



วันนี้ (10 มิ.ย. 64) ที่ศาลฎีกา นายนิติธร ล้ำเหลือ ที่ปรึกษากลุ่มประชาชนคนไทย (ปท.) เดินทางมายื่นหนังสือถึง นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา เรื่อง การอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน การปฏิรูปสถาบันตุลาการ และกระบวนการยุติธรรม โดยมี นายธวัชชัย สุรักขกะ เลขานุการศาลฎีกา เป็นตัวแทนลงมารับหนังสือ


นายนิติธร  กล่าวว่า นับจากนี้ไปจะเป็นช่วงของการเคลื่อนไหวและรณรงค์ทางการเมืองของภาคประชาชน ซึ่งขณะนี้มีกลุ่มประชาชนคนไทย กลุ่มสามัคคีประชาชน และเดิมทียังมีกลุ่มของคณะราษฎร รวมทั้งกลุ่มประชาชนที่มีความเดือดร้อนด้านต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหว ตนเองจึงคิดว่าช่วงนี้จะมีปัญหาทางด้านกฎหมายหากเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรง การมายื่นหนังสือในวันนี้เพื่อให้เข้าใจในเจตนารมย์ของประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทั้งหมด เพราะประชาชนต้องการความเป็นธรรมและต้องการพัฒนาทางด้านการเมือง มิได้มีเจตนามุ่งผลทางคดีอาญา หากมีคดีเกิดขึ้นอยากให้ศาลหยิบยกพิจารณาเจตนารมย์ที่แท้จริงของผู้ออกมาเคลื่อนไหว 


ต่อมา นายนิติธร กล่าวถึง กรณีเรื่องสินบนของ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป ที่ตนเองอยากให้มีการสอบสวนโดยรวดเร็วและเปิดเผยผลการสอบสวนต่อสาธารณะชนให้รับทราบ  เพราะบุคคลในสถาบันตุลาการไทยถูกตั้งคำถามถึงความเป็นอิสระและจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมต้องเร่งตรวจสอบว่าการรับสินบน หากมีมูลต้องดำเนินการทางวินัยโดยไม่คำนึงว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะเป็นใคร หรือมีตำแหน่งใด คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมต้องพิจารณา พร้อมกับเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อพิทักษ์เกียรติของผู้พิพากษาและดำรงความเป็นกลางของศาล


อย่างไรก็ตาม นายนิติธร ยังกล่าวถึงประเด็นที่ต้องการให้ประธานศาลฎีกา พิจารณาจัดวางความสัมพันธ์ของผู้พิพากษากับการเข้าไปเชื่อมโยงในส่วนของภาคสังคม รวมทั้งการศึกษาอบรมหลักสูตรต่างๆ ที่ปัจจุบันมีเยอะมาก และศาลก็มีหลักสูตรที่มีบุคคลภายนอกอันไม่ใช่ผู้พิพากษาหรือตุลาการเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งระบบส่วนนี้อาจเกิดความสัมพันธ์เรื่องประโยชน์เชิงซ้อน ตนเองจึงรู้สึกเป็นห่วงและอยากให้พิจารณาดูอีกครั้ง โดยในวันพรุ่งนี้เวลา 15.00 น. ตนเองจะไปยื่นหนังสือต่อ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เพื่อแจ้งประเด็นการเคลื่อนไหวของประชาชน และต้องการให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนุ เสนอแนะต่อฝ่ายความมั่นคง หรือฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ดูแลความสงบสุขแก่กลุ่มผู้ชุมนุม และคณะกรรมการฯ เองก็ต้องลงมาอยู่ในพื้นที่จริง ไม่ใช่สรุปและเขียนรายละเอียดจากข้อมูลข่าวดังที่ผ่านมา จึงอยากให้คณะกรรมการฯ ลงมามีบทบาทและบันทึกข้อเท็จจริงด้วย


วุฒิไกร / ทีมข่าว







ขับเคลื่อนโดย Blogger.