Header Ads

 


การพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติบึงบอระเพ็ด


วันที่ 16 กันยายน 2563 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 99 ณ อาคารศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พันเอก รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พร้อมด้วย พันเอก นายแพทย์ วิโรจน์ ชนม์สูงเนิน รองโฆษกฯ เป็นผู้แถลงข่าวฯ มีสาระสำคัญดังนี้.-
ในปี พ.ศ. 2466 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ ดร.ฮิวจ์ เอ็ม. สมิท ชาวอเมริกันซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านการประมง กระทรวงเกษตราธิการ ออกสำรวจบึงบอระเพ็ดและได้รายงานผลการสำรวจว่า บึงบอระเพ็ดเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่และมีความสำคัญมากเกี่ยวกับเรื่องการประมง เพราะว่าเป็นแหล่งพันธุ์ปลา เป็นทำเลที่ปลาอาศัยเลี้ยงตัว วางไข่ และแพร่พันธุ์ ควรจะมีการบำรุงรักษาให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลา
ต่อมา พ.ศ. 2469 กระทรวงเกษตราธิการจึงได้นำเรื่องนี้กราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสงวน บึงบอระเพ็ดไว้เป็นที่สงวนพันธุ์สัตว์น้ำ โดยการสร้างคันกั้นน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำที่ระดับ +23.80 ม.รทก. ตลอดปี และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ดำเนินการเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2469 การก่อสร้างทำนบกั้นน้ำและประตูระบายน้ำเริ่มจากปี พ.ศ. 2470 และเสร็จในปี พ.ศ. 2471 สามารถกักเก็บน้ำได้ตลอดปี
ซึ่งกระทรวงพระคลังมหาสมบัติในเวลานั้น ได้ประกาศกำหนดเขตบึงบอระเพ็ดไว้เป็นที่รักษาพืชพันธุ์ปลาน้ำจืด และพิจารณาแก้ไข ในปี พ.ศ. 2473 โดยกำหนดเนื้อที่ประกาศเป็นเขตหวงห้าม ไว้ประมาณ 250,000 ไร่ และต่อมารัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกา ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2480 ถอนการหวงห้ามเหลือ 132,737 ไร่ 56 ตารางวา โดยมีอาณาเขตติดต่อกัน 3 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอชุมแสง และอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ และในปี พ.ศ. 2536 มีการปรับปรุงประตูระบายน้ำ และสร้างทำนบใหม่เพื่อเก็บกักน้ำได้มากขึ้น โดยสามารถกักเก็บน้ำได้ในระดับ ความสูง +24.00 ม.รทก.  
ปัจจุบัน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้รับมอบนโยบายจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ให้เป็นหน่วยงานหลักในการเข้าไปศึกษาสภาพปัญหา จนสามารถจัดทำเป็นแผนฟื้นฟูและพัฒนา โดยเสนอคณะรัฐมนตรีและได้รับความเห็นชอบในหลักการ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา มีรายละเอียด ดังนี้.-
โดยแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด ระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี (พ.ศ. 2563 - 2572) วงเงินรวม 5,701.50 ล้านบาท กว่า 56 โครงการ จำนวน 6 ด้าน ได้แก่
    1) การบริหารจัดการและการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อกำหนดพื้นที่ใช้ประโยชน์ในรูปแบบ “ให้ หวง ห้าม”
    2) การแก้ปัญหาภัยแล้งและสร้างความมั่นคงของน้ำ เพื่อเพิ่มศักยภาพการเก็บกักน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำและการเติมน้ำเข้าบึงจากแม่น้ำน่าน
    3) การจัดการคุณภาพน้ำ ตะกอน และรักษาระบบนิเวศ เพื่อแก้ปัญหาตะกอนทับถมจากตะกอนดินและวัชพืชที่เสื่อมสลายและทำวังปลา
    4) การจัดการน้ำท่วมและบรรเทาอุทกภัย เพื่อลดพื้นที่น้ำท่วมและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ
    5) การอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำ
    6) การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค โดยพัฒนาสระเก็บน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค
ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะส่งผลทำให้น้ำต้นทุนเพิ่มประมาณ  67 ล้านลูกบาศก์เมตร ลดความเสียหายจากน้ำท่วม 21,000 ไร่ ช่วยพื้นที่ภัยแล้ง 85,000 ไร่ นั้น สทนช. จะมีการติดตามความก้าวหน้าตามแผนปฏิบัติการโครงการเร่งด่วน 9 โครงการ ปี 2563 - 2565 ทั้ง 3 ด้านอย่างใกล้ชิด เพื่อติดตามประเมินผลให้เป็นไปตามแผนหลักฯ โดยเร็ว ได้แก่
1. แผนงานแก้ปัญหาบุกรุกและการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ “ให้ หวง ห้าม” ปรับเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในบึง และปรับปฏิทินปลูกพืช
2. แผนงานแก้ปัญหาตะกอนตื้นเขินและเพิ่มปริมาณน้ำ
3. แผนงานแก้ปัญหาน้ำท่วม – น้ำแล้ง อาทิ การปรับปรุง ประตูระบายน้ำปากคลองบอระเพ็ด ปรับปรุง ประตูระบายน้ำคลองบางปอง เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ส่งมอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุให้ผู้แทนราษฎรจำนวน 1,000 ราย ที่อยู่อาศัยและทำการเกษตรในเขต “ให้” ของบึงบอระเพ็ด ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเร่งด่วนตามแผนหลักฯ ของรัฐบาลภายใต้โครงการ “ธนารักษ์ประชารัฐ” โดยการตรวจสอบแนวเขตและการเข้าครอบครองใช้ประโยชน์ของราษฎร บนที่ดินราชพัสดุแปลง นว.339 ตรวจสอบรังวัดพื้นที่ใน 3 อำเภอ จำนวน 6,888 แปลง คิดเป็นร้อยละ 88.15 ของผู้ยื่นคำขอ ประกาศจัดให้เช่า 2,643 แปลง พบว่าร้อยละ 46 ของพื้นที่ที่ตรวจสอบ ใช้ทำเกษตร ร้อยละ 52 เป็นพื้นที่ของกรมประมง ร้อยละ 1 เป็นที่อยู่อาศัย และร้อยละ 1 เป็นที่ตั้งส่วนราชการ ส่วนแผนการปฏิบัติงาน (Action Plan) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จะดำเนินการปักหลักเขตที่ดินราชพัสดุ รอบแปลงบึงบอระเพ็ด 250 หลัก การปักป้ายแสดงที่ตั้ง และขอบเขตบึงบอระเพ็ด 50 ป้าย ต่อไป
กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 จะได้ร่วมกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้การวางแผนที่ร่วมกันคิดผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ มีการดำเนินการภายใต้เป้าหมายเดียวกันตามกรอบเวลาที่เหมาะสม และทำแบบเป็นลำดับขั้นตอน มีแผนงานโครงการพร้อมทั้งกรอบงบประมาณ เป็นไปตามแนวทางที่ สทนช. ใช้ขับเคลื่อน ให้บรรลุผลจริงจังในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศ ตาม พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ต่อไป








 

ภาพ/ข่าว อัมพณ​ จับศรทิพย์​

ขับเคลื่อนโดย Blogger.