Header Ads

 


กองทัพภาคที่ 3 เตือนเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์

วันที่ 19 สิงหาคม 2563 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 96 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมีพันเอก นายแพทย์ วิโรจน์ ชนม์สูงเนิน รองโฆษก กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3  เป็นผู้แถลงข่าวฯ
จากข้อมูลในการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าสถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา ของประเทศไทย ในปี 2563 พบผู้ป่วยแล้ว 5,728 ราย จาก 65 จังหวัดทั่วประเทศ    ไม่มีผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง นักเรียน และเกษตรกร ตามลำดับ จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ จันทบุรี รองลงมาคือ อุทัยธานี ลำพูน เลย และตราด ตามลำดับ
 โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา เป็นโรคติดต่อนำโดยแมลง มียุงลายเป็นพาหะ ผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการไข้สูง ปวดข้อ ข้อบวมหรือข้ออักเสบร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ     มีผื่นหรืออ่อนเพลีย สำหรับการติดต่อและการแพร่ระบาดของโรคไข้ปวดข้อยุงลายนั้น คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยกระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย และพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนในหลายจังหวัด ประกอบกับยังมีฝนตกในหลายพื้นที่ต่อเนื่อง ทำให้เอื้อต่อการเกิดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายได้
แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 ได้มอบหมายให้โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือ ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์เพื่อเฝ้าระวังโรค ทั้งนี้ การป้องกันโรคที่ดีที่สุด คือ การจัดการสิ่งแวดล้อมภายในบ้านและนอกบ้าน ด้วยมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ
1. เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง
2. เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ
3. เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งจะสามารถป้องกัน 3 โรค ได้แก่
   1) โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา
   2) โรคติดเชื้อไวรัสซิกา
   3) โรคไข้เลือดออก
นอกจากนี้ ควรป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด ด้วยการทายากันยุง กำจัดยุงในบ้าน และการนอนกางมุ้งสถานพยาบาลที่แม้ไม่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ควรมีการเฝ้าระวังโรคไข้ปวดข้อยุงลาย เนื่องจากยุงลายซึ่งเป็นพาหะ   นำโรคสามารถพบได้ทุกจังหวัด โดยการคัดกรองผู้ป่วยที่มาด้วยอาการ ไข้ ปวดข้อ มีผื่น หรือมีอาการคล้ายไข้เลือดออกแต่เกล็ดเลือดอยู่ในระดับปกติ และเมื่อพบผู้ป่วยควรรายงานผู้สงสัยหรือผู้ป่วยต่อหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อดำเนินการควบคุมโรคอย่างรวดเร็ว อีกทั้ง หากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือมีอาการบ่งชี้ของโรคตามขั้นต้น หรือสงสัยว่าป่วยด้วยโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ขอให้ได้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหาร หรือโรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้านโดยเร็ว หรือสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร.1422


!!!!!อัมพณ จับศรทิพย์ 0619525644!!!






 

ขับเคลื่อนโดย Blogger.