Header Ads

 


กองทัพภาคที่ 3 เตือนการเฝ้าระวังโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา

วันที่ 22 กรกฎาคม 2563 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 94 ณ อาคารศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พันเอก รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พร้อมด้วย พันเอก นายแพทย์ วิโรจน์ ชนม์สูงเนิน รองโฆษกฯ เป็นผู้แถลงข่าวฯ มีสาระสำคัญดังนี้.-
จากข้อมูลในการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าสถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา ของประเทศไทย ในปี 2563 พบผู้ป่วยแล้ว 4,307 ราย จาก 62 จังหวัดทั่วประเทศ    ไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งกลุ่มอายุที่มากที่สุดคือ 25 – 34 ปี รองลงมาคือกลุ่มอายุ 35-44 ปี และอายุ 45-54 ปี ตามลำดับ จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ จันทบุรี รองลงมาคือ อุทัยธานี ลำพูน ตราด และระยอง ตามลำดับ โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบการรายงานของผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี
 โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา เป็นโรคติดต่อนำโดยแมลง มียุงลายเป็นพาหะ ผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการไข้สูง ปวดข้อ ข้อบวมหรือข้ออักเสบร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีผื่นหรืออ่อนเพลีย สำหรับการติดต่อและการแพร่ระบาดของโรคไข้ปวดข้อยุงลายนั้น คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยกระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย และพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนในหลายจังหวัด ประกอบกับยังมีฝนตกในหลายพื้นที่ต่อเนื่อง ทำให้เอื้อต่อการเกิดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายได้
แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 ได้มอบหมายให้โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือ ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์เพื่อเฝ้าระวังโรค ทั้งนี้ การป้องกันโรคที่ดีที่สุด คือ การจัดการสิ่งแวดล้อมภายในบ้านและนอกบ้าน ด้วยมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ
1. เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง
2. เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ
3. เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งจะสามารถป้องกัน 3 โรค ได้แก่
   1) โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา
   2) โรคติดเชื้อไวรัสซิกา
   3) โรคไข้เลือดออก
นอกจากนี้ ควรป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด ด้วยการทายากันยุง กำจัดยุงในบ้าน และการนอนกางมุ้งสถานพยาบาลที่แม้ไม่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ควรมีการเฝ้าระวังโรคไข้ปวดข้อยุงลาย เนื่องจากยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรคสามารถพบได้ทุกจังหวัด โดยการคัดกรองผู้ป่วยที่มาด้วยอาการ ไข้ ปวดข้อ มีผื่น หรือมีอาการคล้ายไข้เลือดออกแต่เกล็ดเลือดอยู่ในระดับปกติ และเมื่อพบผู้ป่วยควรรายงานผู้สงสัยหรือผู้ป่วยต่อหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อดำเนินการควบคุมโรคอย่างรวดเร็ว อีกทั้ง หากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ มีอาการบ่งชี้ของโรคตามขั้นต้น หรือสงสัยว่าป่วยด้วยโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ขอให้ได้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหาร หรือโรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้านโดยเร็ว หรือสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร.1422




ภาพ/ข่าว ต้อย รอบรั้วภูธร
ขับเคลื่อนโดย Blogger.