Header Ads

 


เมื่อคืน แม่ช้าง-ลูกช้าง ส่งเสียงร้องโต้ตอบกันแล้ว รอลุ้นกัน!! คืนนี้ แม่ช้างห้วยขาแข้ง จะมารับลูกช้างพลัดหลง หรือไม่!!!

ตามที่เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเจ้าหน้าที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี พร้อมทีมงานนักวิจัย นายสัตวแพทย์ และผู้เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันปฎิบัติการเคลื่อนย้ายลูกช้างห้วยขาแข้งพลัดหลง จากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ไปยังคอกเตรียมปล่อยในป่าในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง บริเวณห้วยน้ำขุ่น เมื่อบ่ายวันที่ 18 มิถุนายน 2563 เรียบร้อยแล้ว

นับวันจากวันเคลื่อนย้ายลูกช้างเข้าป่าไปยังคอกเตรียมปล่อย นับถึงวันที่ 23 มิถุนายน 2563 ลูกช้าง นอนรอแม่อยู่ในคอกเตรียมปล่อยในป่าลึกเป็นเวลาผ่านมา 4 คืน แม่ช้างยังไม่มารับ เป็นเหตุส่วนหนึ่งได้สร้างความกังวลใจให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเพื่อคลายข้อกังวลใจ และเพื่อจะได้ทบทวนการปฎิบัติ
เมื่อบ่ายวันที่ 23 มิถุนายน 2563 นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ได้เชิญเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบแต่ละฝ่าย ประกอบด้วยหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงห้วยขาแข้ง หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ และเจ้าหน้าที่ทีมงานคชสาร ประชุมติดตามและทบทวนแผนการปฎิบัติในการปล่อยลูกช้างพลัดหลง ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีข้อสรุปว่า






จากข้อมูลภาพถ่ายจากกล้องดักถ่าย ทราบว่า ฝูงช้างเดินเฉียดมาใกล้ๆ โดยอยู่ห่างจากลูกช้างราว 3 กิโลเมตร แต่แค่เดินวนเวียนอยู่รอบ โดยไม่เข้ามาใกล้คอกเตรียมปล่อยลูกช้าง จึงมีมติให้ทบทวนการปฎิบัติและดำเนินการดังนี้

1.หาสิ่งดึงดูดช้างฝูงช้าง ให้เข้ามาใกล้ลูกช้าง โดยใช้กลิ่นและอาหารของผลไม้ที่คาดว่าดึงดูดช้างเข้ามาได้ เช่น ขนุน และสับปะรด รวมทั้งนำเกลือ ไปโรยหรือกองไว้ใกล้จุดที่ลูกช้างอยู่ ในรัศมีประมาณ 100 เมตร รอบ 4 ทิศ จากคอก เพื่อให้อาหารดึงแม่ช้างมาใกล้ลูกช้าง และเมื่อแม่ช้างมาถึงจุดกองอาหารแล้ว ให้ตัวลูกช้างดึงดูดฝูงแม่ช้างเข้ามาเองตามธรรมชาติ

2.ให้มีเจ้าหน้าที่ อยู่เฝ้าระวังน้อยที่สุด และให้ย้ายฐานบัญชาการ ชุดที่คอยสนับสนุนการดูแลลูกช้าง ให้ขยับไปตั้งฐานห่างไกลจากจุดเดิมไปอีกราว 500 เมตร


3.ให้หลีกเลี่ยงการต้อนช้างฝูงแม่เข้าหาลูกช้าง เพราะเป็นกังวลเรื่องอารมณ์ของช้างฝูงแม่ ซึ่งเข้ามาทำอันตรายลูกช้างได้ อีกทั้งวิเคราะห์กันแล้ว เห็นว่าผืนป่าห้วยขาแข้งกว้างใหญ่มาก การต้อนจะไม่สามารถกำหนดทิศทางให้ฝูงช้างไปในทิศทางที่ต้องการได้

4. ให้เฝ้าสังเกตุการณ์ความคืบหน้าในการปล่อยลูกช้างออกไปอีก 2-3 คืน หากพบว่ายังไม่เป็นผลสำเร็จ  ให้ทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) จะเสนอกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดให้มีการประชุมระดมความคิด ทบทวน และกำหนดแผนการปฎิบัติ จากผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้มีประสบการณ์ในเรื่องของการปล่อยช้างคืนป่า ของประเทศ มาร่วมประชุม ทบทวน หาข้อสรุปการปฏิบัติการกันโดยเร่งด่วนต่อไป

การปฎิบัติตามข้อ 1 และ 2 เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการแล้ว เมื่อเย็นวันที่ 23 มิถุนายน 2563



ในส่วนของลูกช้าง ในวันที่ 23 มิถุนายน 2563 พบว่ายังคงมีความร่าเริงอยู่ พบพฤติกรรมชูงวงขึ้นเหนือหัวเพื่อหากลิ่นจากฝูงแม่ และมีการเรียกร้องความสนใจจากผู้เลี้ยงโดยการพยายามคว่ำกระบะที่ใส่น้ำไว้ให้กิน เพื่อให้คนเลี้ยงนำน้ำมาเติมใส่ให้ใหม่

ความสำเร็จ มีความเป็นไปได้สูงขึ้น เมื่อพบว่าในคืนวันที่ 23 มิถุนายน 2563
ชุดติดตามและเฝ้าระวังลูก ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง รายงานการเฝ้าสังเกตการณ์เฝ้าระวังลูกช้างในคอกชั่วคราว ว่า
ส่งเสียงร้อง 66 ครั้ง โดยเมื่อเวลา 01.56 น. มีเสียงช้างป่าฝูงแม่ ร้องมาทางทิศตะวันออก ระยะห่างจากคอกเตรียมปล่อยประมาณ 2 กม. และมีเสียงลูกช้างพลัดหลงร้องโต้ตอบกลับไป 2 ครั้ง

เวลา 02.02 น. ลูกช้างพลัดหลงร้อง 1 ครั้ง หลังจากนั้นมีเสียงร้องตอบจากฝูงช้างป่า ไม่ต่ำกว่า 4 ตัว ระยะห่าง ประมาณ 1 กม. ไปทางทิศตะวันออก

เวลา 02.44 น. ลูกช้างพลัดหลงร้อง 5 ครั้งต่อเนื่อง หลังจากนั้นไม่มีเสียงร้องตอบกลับ

เวลา 03.27 - 04.58 น. มีเสียงฝูงช้างป่าและเสียงของลูกช้างพลัดหลง ร้องโต้ตอบกันอย่างต่อเนื่อง ระยะห่าง 300-500 เมตร  จากทิศตะวันออกเช่นเดิม

การที่ช้างฝูงแม่-ลูกช้างพลัดหลง ส่งเสียงร้องโต้ตอบกันเช่นนี้ น่าจะเป็นสัญญาณที่ดี แม่ลูกรับรู้กันและกันแล้ว มาส่งกำลังใจให้ลูกช้างกัน! มารอลุ้นกัน!! คืนนี้ แม่ช้างห้วยขาแข้ง จะมารับลูกช้างพลัดหลง หรือไม่!!!



นางสาวอังสนา มองทรัพย์ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
นายธานี วงค์นาค หัวหน้า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผอ. สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12(นครสวรรค์)
ข่าว/ภาพอัมพณ จับศรทิพย์ รายงาน 0619525644
ขับเคลื่อนโดย Blogger.