Header Ads

 


อุทัยธานี-เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง รายงานความคืบหน้าในการดูแล และเตรียมความพร้อมจะปล่อยลูกช้างคืนป่า อายุ 2-3 เดือน ที่พลัดหลงแม่ คืนสู่อ้อมอกแม่

ตามที่เมื่อกลางดึกของคืนวันที่  27 เมษายน 2563 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า พบลูกช้าง อายุประมาณ 2-3 เดือน เดินเดี่ยวเข้าไปในหมู่บ้าน บ้านไผ่งาม ต.ระบำ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี

        หลังรับแจ้ง ได้ระดมเจ้าหน้าที่จำนวน  30 นาย เข้าพื้นที่เพื่อคนหา ปรากฎว่า พบลูกช้างป่า ตัวยังเล็ก อายุประมาณ 2-3 จริง ตามที่ได้รับแจ้ง เจ้าหน้าที่พยายามเข้าจับเพื่อที่จะนำออกจากหมู่บ้าน แต่จับไม่ได้ และลูกช้างวิ่งหลบหายไป จนกระทั่ง เวลาประมาณ 08.30น.  ของวันรุ่งขึ้น เจ้าหน้าที่ได้พบลูกช้างป่าขณะกำลังเดินอยู่บนเส้นทางใกล้สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เจ้าหน้าที่จึงได้ร่วมกันจับไว้ แล้วนำไปดูแลไว้ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตามที่รายงานไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าในการดูแล และเตรียมความพร้อมจะปล่อยลูกช้างคืนป่า
       สุขภาพและพลานามัย ตลอดช่วง 2 วันที่ผ่านมา ลูกช้างมีสุขภาพแข็งแรงดีมาก ขับถ่ายปกติ กินนมและน้ำได้ดี ลูกช้างชอบเล่นกับคนเลี้ยง ดูแล้วอารมณ์ดีมาก มีส่งเสียงร้องบ้างบางเวลา ขณะนี้ถูกขังไว้ในกรงขนาดใหญ่ พื้นที่กว้าง



การเตรียมความพร้อมในการจะปล่อยลูกช้างป่า คืนสู่อ้อมอกแม่
        เมื่อเช้าวันที่ 30 เมษายน 2563 นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผอ. สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12(นครสวรรค์) ได้เชิญผู้เกี่ยวข้อง อาทิเช่น หัวหน้าหน่วยงานด้านสัตว์ป่าในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ผอ. ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า หน. กลุ่มงานวิชาการ ผู้แทนมูลนิธิสืบนาคเสถียร นายสัตวแพทย์ ทั้งนายสัตวแพทย์ ของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) และนายสัตวแพทย์ ที่มาจากสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเจ้าหน้าที่ทีมงานคชสาร มาหารือ พร้อมระดมสมองเพื่อหาทางดำเนินการตะปล่อยลูกช้างป่า คืนสู่อ้อมอกแม่ให้ได้อย่างปลอดภัย ที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง มีข้อสรุป ดังนี้

1.ให้เพิ่มเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลและผู้ให้นมลูกช้าง จาก 2 คน เป็น 4 คน สลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาดูแล ทั้งนี้เพื่อป้องกันลูกช้างใกล้ชิดและสนิทสนมที่เรียกว่าติดคนเลี้ยง ที่อาจเป็นสาเหตุทำให้อนาคตลูกช้างไม่อยากกลับเข้าป่า หรือถ้าสามารถให้น้ำ ให้อาหารแบบที่ลูกช้างกินด้วยตนเองได้ให้ลองทำดู

2.อาหารที่ให้ลูกช้างกิน ให้ใช้นมยี่ห้อเดิม เพราะอาหารการกินเดิมที่ผ่านมานั้น ลูกช้างมีสุขภาพดี และแข็งแรงดีมาก ขับถ่ายปกติ

3.ให้รีบหาทางปล่อยลูกช้างคืนป่าได้อย่างปลอดภัยให้เร็วที่สุด แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกช้างเป็นที่ตั้ง


       ในการจะปล่อยคืนป่า ผอ. สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ให้เน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยของลูกช้างเป็นหัวใจสำคัญ ทั้งนี้เพราะในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีสัตว์ผู้ล่า โดยเฉพาะเสือโคร่งอยู่หลายตัว การปล่อยลูกช้างคืนป่าที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จะมีปัจจัยเรื่องเสือมาเกี่ยวข้องซึ่งจะต่างจากที่อื่น ดังนั้นจุดที่จะปล่อยจะต้องออกแบบเป็นกรงหรือคอก ที่สามารถกันเสือได้ และต้องมีเจ้าหน้าที่เฝ้าตลอดเวลา

       ที่ประชุมได้มอบหมายให้นายธานี วงศ์นาค หัวหน้า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และ นายยงยุทธ มีแสงพราว หัวหน้าศูนย์ศึกษาการพัฒนาการจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ 1 (ภาคกลาง) ไปเลือกหาจุดปล่อยลูกช้าง และให้ช่วยกันนางสาวอังสนา มองทรัพย์ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เตรียมคอกเตรียมปล่อย โดยด่วนต่อไป

สำเนา ทองศรี รายงาน0613710441
ขับเคลื่อนโดย Blogger.