ผู้ว่าฯชลบุรี ลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ตรวจควันดำรถบรรทุก แก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างเคร่งครัด
นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ลงพื้นที่จุดตรวจควันดำ ณ บริเวณขาออกประตูตรวจสอบสินค้าที่ 1 ท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พร้อมมอบแนวทางการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก ไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) จากภาคการคมนาคมขนส่ง
โดยมีนายวีรชาติ พุทธรักษา ผู้ช่วยผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมด้วยสำนักงานขนส่งจังหวัดชลบุรีสำนักงานสิ่งแวดล้อม และควบคุมมลพิษ ที่ 3 (ชลบุรี) สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดชลบุรี สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชลบุรี ฝ่ายปกครองอำเภอศรีราชา และตำรวจสภ.แหลมฉบัง ร่วมดำเนินการในครั้งนี้
นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เผยว่า ในวันนี้ทางจังหวัดชลบุรี ร่วมกับ ขนส่งจังหวัดชลบุรี และหน่วยงานต่าง ๆ มาตรวจสอบดูรถบรรทุกที่ออกมาจากท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อวัดควันจากท่อไอเสียว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ จากการตรวจสอบที่ผ่านมา พบรถที่เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งดำเนินการตามกฎหมายด้วยการปรับ และงดใช้ยานพาหนะคันดังกล่าว โดยการติดป้ายห้ามใช้รถชั่วคราว ก่อนให้ไปแก้ไขปรับปรุง ก่อนไปแจ้งกับขนส่งจังหวัดที่สะดวกเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ทำการปรับ และลอกสติ๊กเกอร์ออก ซึ่งถ้าผู้ประกอบการท่านใด ลอกสติ๊กเกอร์ออกเอง ก็จะมีโทษเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และถ้ายังดื้อดึงอาจยึดใบอนุญาตของผู้ประกอบการทันที
การลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อเป็นการลดปัญหาฝุ่นละอองที่เป็นมลภาวะ ซึ่งที่ผ่านมา จ.ชลบุรี มีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ที่กำลังจะเป็นปัญหา ทางจังหวัดจึงทำการแก้ไขก่อนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ซึ่งผลปรากฏว่าในช่วงนี้ค่าฝุ่นในจังหวัดชลบุรีมีสถานการณ์ที่ดีขึ้น รวมทั้งได้มีการดำเนินคดีกับผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามเผาหญ้า เผาป่าในพื้นที่ไปแล้วหลายราย ที่เป็นสาเหตุทำให้ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในจังหวัดชลบุรีเพิ่มขึ้น รวมทั้งพยายามจัดการค่าต่าง ๆ ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งจังหวัดชลบุรีเป็นแหล่งท่องเที่ยวก็ไม่อยากให้ค่าฝุ่นละอองส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยว จึงให้ความสำคัญและเฝ้าระวังมาโดยตลอด ซึ่งจากการวัดค่าฝุ่นละอองในแอพพลิเคชั่นล่าสุดพบว่า ค่าฝุ่นละอองในจังหวัดชลบุรีมีค่าที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้นมากแล้ว
สำหรับพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นท่าเรือน้ำลึก และขนถ่ายสินค้าที่สำคัญของประเทศ ซึ่งจะมีรถบรรทุก สินค้า เข้า-ออก เป็นจำนวนมาก ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว ก่อให้เกิดการระบายควันดำของรถยนต์ออกมา จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการ ตั้งจุดตรวจวัดควันดำ เพื่อลดปัญหาผลกระทบจากฝุ่นละออง PM 2.5