Header Ads

 


พิจิตร-สำนักงานสหกรณ์จังหวัดพิจิตร ขับเคลื่อนโครงการลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร จังหวัดพิจิตร (พลิกชีวิตคนเมือง สู่ อาชีพเกษตรกรรมในบ้านเกิด)

 


จากปัญหาภาคการเกษตรของไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ในปี 2564คือ คนไทยจะมีอายุ 60 ปี เพิ่มขึ้นถึง 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ หรือร้อยละ 20 และจะเป็นสังคมสูงวัยอย่างเต็มที่ ภายในปี 2578 คือ ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 และภายในปี 2583 (ค.ศ. 2040) ประชากรวัยทำงานจะลดลงกว่าร้อยละ 10 จากสังคมผู้สูงอายุดังกล่าวจะส่งผลทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านภาคการผลิต ทำให้การผลิตและกำลังแรงงานน้อยลง ผลิตภาพการผลิตลดลง ค่าแรงงานสูงขึ้นหรือเกิดการขาดแคลนแรงาน ในขณะทีความก้าวหน้าทางการแพทย์และสาธารณสุขเพิ่มขึ้นส่งผลให้คนไทยมีอายุที่ยืนยาวขึ้น โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2558 คนไทยมีอายุเฉลี่ย 75 ปี และจากผลการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนเกษตร ปี 2560/61 ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จำนวนประชากรภาคเกษตร มีทั้งสิ้น 24.53 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี จำนวน 3.30 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 13.49 ของประชากรภาคเกษตรทั้งสิ้น ปัจจุบันแรงงานภาคเกษตรของไทยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 58 ปี และกำลังเข้าสู่ผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์หรือมีประชากรผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี ถึงร้อยละ 20 ในอีก 2 - 3 ปีข้างหน้า  ในขณะที่ลูกหลาน ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่นิยมออกไปทำงานในเมืองใหญ่ และไม่สนใจประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำให้แรงงานภาคเกษตรเริ่มขาดแคลน แรงงานภาคเกษตรมีอายุเพิ่มขึ้น ในขณะที่ภาคเกษตรเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญเพื่อการบริโภคของคนไทยทั้งประเทศและสู่การเป็นครัวของโลก รวมถึงความจำเป็นต้องปรับตัวของสหกรณ์ภาคเกษตรเพื่อสร้างสมาชิกเกษตรกรรุ่นใหม่ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการผลิตและการบริหารจัดการ การพัฒนารูปแบบการผลิตของสมาชิกให้เป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตร และเพื่อเตรียมความพร้อมการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งส่งผลต่อภาคเกษตรในอนาคต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมีนโยบายที่จะสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่หันกลับมาทำอาชีพเกษตรกรรมมากขึ้น หรือคนเมืองที่ประสบปัญหาด้านการประกอบอาชีพในเมืองแต่มีที่ดินเพื่อสร้างอาชีพและอยากกลับสู่ถิ่นเกิดเพื่อทำอาชีพเกษตรกรรมที่ยั่งยืนโดยความร่วมมือของสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่ โดยมอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์หาแนวทางในการสนับสนุนให้สหกรณ์การเกษตรที่มีความเข้มแข็งให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหลานสมาชิกหรือบุคคลทั่วไปที่ต้องการกลับมาพัฒนาถิ่นกำเนิด ในด้านการประกอบอาชีพการเกษตรเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างมั่นคง รวมถึงสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ที่รักอาชีพเกษตรกรรมไม่ทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด และผลักดันแนวคิดการปลูกพืช ปศุสัตว์ และประมง การใช้เทคโนโลยีการเกษตร ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และความต้องการของตลาด




 กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงได้จัดทำโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านสานต่ออาชีพการเกษตร โดยการสนับสนุนให้ลูกหลานสมาชิกสหกรณ์หรือบุคคลทั่วไปที่จากบ้านไปประกอบอาชีพในกรุงเทพฯ หรือในต่างจังหวัด กลับมาทำการเกษตรที่บ้านเกิด โดยการส่งเสริมและแนะนำบูรณาการให้เกษตรกรเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกสหกรณ์ในท้องถิ่น สนับสนุนการรวมกลุ่มการผลิตตลอดจนการจัดหาตลาดรองรับ กรมส่งเสริมสหกรณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาและให้แนะนำแก่สหกรณ์และสมาชิกเกษตรกร พร้อมทั้ง ส่งเสริมการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการประกอบอาชีพและดำรงชีวิตส่งผลให้เกษตรกรได้มีอาชีพที่ยั่งยืนและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีแนวทางการขับเคลื่อนโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร หลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้สมัครเข้าร่วมโครงการเป็นลูกหลานสมาชิก และบุคคลทั่วไปที่ต้องการกลับทำอาชีพเกษตรกรรมที่บ้านเกิด เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ และมีอายุไม่เกิน 50 ปี  เป็นบุคคลที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ มีความพร้อมที่จะทำอาชีพเกษตรกรรมเพื่อพัฒนาบ้านเกิด  ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ  มีที่ดินหรือสามารถเช่าที่ดินเพื่อประกอบอาชีพเกษตร  สมัครใจและสมัครเข้าร่วมโครงการไว้กับกรมส่งเสริมสหกรณ์หรือสหกรณ์การเกษตรภายในระยะเวลาและช่องทางการรับสมัครเข้าร่วมโครงการที่กำหนด ในส่วนของสหกรณ์ที่เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือจะเป็นสหกรณ์การเกษตรที่มีความพร้อม สมัครใจและประสงค์จะเข้าร่วมโครงการเพื่อให้ลูกหลานสมาชิกหรือบุคคลทั่วไป ที่มีที่ดินทำกินกลับมาทำอาชีพเกษตรกรรมในแดนดำเนินงานของสหกรณ์ และเป็นสหกรณ์ที่มีความต้องการที่จะช่วยเหลือบุคคลเป้าหมายทั้งด้านความรู้ เงินทุน อุปกรณ์ รวมถึงการจัดหาตลาด

 


สำหรับจังหวัดพิจิตร ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ ทั้งหมดจำนวน 49 ราย สมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์แล้ว 27 ราย มีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่มีความพร้อมเข้าร่วมโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหลานสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 13 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์ชาวนาวชิรบารมี จำกัด  สหกรณ์การเกษตรบางมูลนาก จำกัด  สหกรณ์การเกษตรทับคล้อ จำกัด  สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินสถาบันการเงินชุมชนหนองโสน จำกัด  สหกรณ์การเกษตรวังทรายพูน จำกัด  สหกรณ์การเกษตรเมืองพิจิตร จำกัด  สหกรณ์การเกษตรสากเหล็ก จำกัด  สหกรณ์การเกษตรโพทะเล จำกัด  สหกรณ์การเกษตรตะพานหิน จำกัด สหกรณ์การเกษตรสามง่าม จำกัด  สหกรณ์ผู้ใช้น้ำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านวังลูกช้าง จำกัด  สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.พิจิตร จำกัด และกลุ่มเกษตรกรพอเพียงตำบลรังนก  ได้สนับสนุนเงินทุนเพื่อการประกอบอาชีพการเกษตร จำนวน 11 ราย เป็นจำนวนเงิน 1,060,000.- บาท (หนึ่งล้านหกหมื่นบาทถ้วน) ในรอบปีที่ผ่านมา สำนักงานสหกรณ์พิจิตร ได้จัดทำโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ของจังหวัดพิจิตร  เพื่อสนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้   ได้เข้าถึงองค์ความรู้ ปัจจัยการผลิต รวมถึงการสร้างอาชีพการเกษตรอย่างยั่งยืน ให้เกิดความมั่นคงในการประกอบอาชีพการเกษตร พร้อมทั้งเพื่อให้สหกรณ์เป็นศูนย์กลางในสร้างอาชีพทางการเกษตรที่มั่นคง มีการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน รวมทั้งสามารถยกระดับสหกรณ์ให้เป็นที่พึ่ง ของสมาชิกอย่างแท้จริง ทำให้ให้ผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ ได้เข้าถึงองค์ความรู้ ปัจจัยการผลิต รวมถึงการสร้างอาชีพการเกษตรอย่างยั่งยืน ให้เกิดความมั่นคงในการประกอบอาชีพการเกษตร ส่งผลให้สหกรณ์เป็นศูนย์กลางในสร้างอาชีพทางการเกษตรที่มั่นคง มีการสร้างงาน   สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน รวมทั้งสามารถยกระดับสหกรณ์ให้เป็นที่พึ่ง ของสมาชิกอย่างแท้จริง

 


** ข้อมูลภาพข่าว: กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจสหกรณ์  สำนักงานสหกรณ์จังหวัดพิจิตร

/ นางสาวชมพูนิกข์ สิทธิวงค์ ,นายชูศักดิ์ อ้อยเฮิง รายงาน


ขับเคลื่อนโดย Blogger.