Header Ads

 


  แกนนำยื่นหนังสือให้ตรวจสอบทุจริตจัดซื้อรถบรรทุกน้ำดับเพลิง อบต. ทุ่งกวาว  อ.เมืองแพร่ จ.แพร่




เวลา 08.00 น.วันที่ 7 ตุลาคม  แกนนำยื่นหนังสือให้ตรวจสอบทุจริตจัดซื้อรถบรรทุกน้ำดับเพลิง อบต. ทุ่งกวาว  อ.เมืองแพร่ จ.แพร่ นำโดยนายสมศักดิ์  วรรณใหญ่   นายพิชัย กวาวสิบสอง  นายประกิจ สุภาผล  และนายเทวัญ กาแก้ว  เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายภาคิน ชมภูพันธ์  รองประธานธรรมาภิบาลจังหวัดแพร่ ที่สำนักงานทนายความแพร่ธรรมนิติ  ถนนทุ่งต้อม อ.เมืองแพร่ จ.แพร่  เพื่อขอส่งหลักฐานเพิ่มเติมและเร่งให้มีการตรวจสอบการทำงานทั้งกลุ่มผู้กระทำผิด จัดซื้อรถบรรทุกน้ำดับเพลิงขนาดจุน้ำได้ 5,000 กิโลกรัม แต่ได้รถยนต์ที่มีการส่งมอบจุน้ำได้เพียง 4,000 กิโลกรัมหรือคนละขนาด  พร้อมทั้งกระบวนการที่ทำให้การแก้ปัญหาทุจริตล่าช้าเวลาผ่านไปถึงถึง 10 ปี  ซึ่งล่าสุดผู้ร้องได้ร้องให้ศูนย์ดำรงธรรมคือ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้ตรวจสอบทุจริตกรณีดังกล่าวว่ามีการจัดซื้อที่ผิดรถยนต์บรรทุกน้ำดับเพลิงได้รถที่ผิดขนาดไม่ตรงตามโครงการจัดซื้อหรือไม่ 

ล่าสุดวันที่ 30 กันยายน  ที่ผ่านมา  นายวิเชียร อนุสาสนนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้ทำหนังสือลับรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง  กรณี  จัดซื้อรถน้ำเอนกประสงค์ขององค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งกวาว ซึ่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 9 จังหวัดลำปาง  ได้เข้าทำการสุ่มตรวจสอบและได้มีการเสนอแนะให้องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งกวาวปฏิบัติตามกรณีจัดซื้อผิดสเป็คแก้ไขให้ถูกต้องและลงโทษผู้ที่รับผิดชอบตั้งแต่กรรมการตรวจรับและผู้บริหาร  ซึ่งเวลาได้ล่วงเลยมาถึง 10 ปีแล้ว  พบว่าไม่ได้ดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ระเมิดและผู้ที่กระทำผิดในอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ

นายวิเชียร แจ้งในหนังสือว่าจังหวัดแพร่ ได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นแล้วมี 3 กรณี  กรณีที่ 1  ตรวจรับรถยนต์บรรทุกน้ำ  ที่มีน้ำหนักบรรทุกน้ำต่ำกว่าความต้องการในการจัดซื้อไปถึง 1,000 กิโลกรัมตามที่ระบุในทะเบียนรถที่ออกโดยสำนักงานขนส่งจังหวัดแพร่ ไม่ตรงกับขนาดรถที่มีโครงการจัดซื้อ  ผลการตรวจสอบโดยคณะกรรมการ ได้คำนวณจากขนาดถังพบมีปริมาตรเท่ากับ 5,252.282 ลิตร นำรถบรรทุกน้ำที่เป็นปัญหาเติมน้ำเต็มถังไปชั่งน้ำหนักชั่งได้  9.555 ตัน  แล้วชั่งตัวรถทั้งคันขณะไม่มีน้ำได้ 4.285 ตัน คิดเป็นน้ำหนักบรรทุกน้ำได้  5.270 ตัน เมื่อเทียบน้ำหนักความจุที่วัดได้จึงมากกว่า 5,000 กิโลกรัม  ซึ่งต่างกับที่สำนักงาน  สตง.ภูมิภาคที่ 9 ตรวจสอบคู่มือทะเบียนรถคันที่เป็นปัญหาเลขทะเบียน  บน 8617 แพร่    


กรณีที่ 2. การจัดซื้อรถยนต์บรรทุกน้ำดังกล่าวราคาเกินกว่าที่สำนักงบประมาณกำหนด เป็นการจัดซื้อไม่เป็นไปตามราคามาตรฐานคุรุภัณฑ์ของสำนักงบประมาณ  ซึ่งได้มีการสอบถามไปยัง อปท.ข้างเคียงปรากฏว่า ไม่พบว่าแห่งใดเคยจัดซื้อแบบกรณีดังกล่าว และมีหนังสือสอบถามไปยังผู้ประกอบการโดยตรงจำนวน 4 รายพบว่าเป็นราคาปกติที่นำมากำหนดเป็นราคากลางเป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุ   

กรณีที่ 3. ไม่พบว่ามีคลัทซ์แบบแห้งแผ่นเดียวควบคุมด้วยระบบไฮโดรลิคพร้อมหม้อลมช่วยตามที่กำหนดไว้ในคุณลักษณะ ผู้จัดจำหน่ายยืนยันว่ารถยนต์คันดังกล่าวตามมาตรฐานไม่มีหม้อลมช่วยคลัทซ์ เนื่องจากแผ่นคลัทซ์มีขนาดเล็กสามารถปรับตั้งอัตโนมัติและในภาวะคับขันจะใช้งานได้ดีกว่า หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานกฎหมาย  ระเบียบ  และ เรื่องร้องทุกข์โทร/ โทรสาร  0-5453-4119 ต่อ  401-403  ลงชื่อ  นายวิเชียร อนุสาสนนันท์  ปฏิบัติการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ 

นายสมศักดิ์ วรรณใหญ่ กล่าวว่า หนังสือตอบดังกล่าวถือเป็นวันสุดท้ายการทำงานในราชการของนายวิเชียร  อนุสาสนนันท์  ที่พยายามตอบแบบเบี่ยงเบนไม่ตรงประเด็น เหมือนถามเรื่องช้างแต่ไปตอบเรื่องม้า  ที่กล่าวอย่างนี้ เพราะปัญหาที่เกิดคือการจัดซื้อรถที่ไม่ตรงสเป็คที่คณะกรรมการจัดซื้อกำหนด  รถยนต์ที่ได้เป็นรถยนต์ที่มีขนาดบรรจุตามทะเบียนต่ำกว่ากำหนดจัดซื้อ  ความจริงแล้วถ้าจะใช้รถยนต์บรรทุกขนาดเล็กแต่จะใส่น้ำให้มากเท่าไหร่ก็คงทำได้ ถ้าเอาวิธีการใส่น้ำมาชี้แจงคงไม่ถูกนัก ถ้าเป็นเช่นนี้จะเป็นบรรทัดฐานให้มีการจัดซื้อรถที่มีขนาดใหญ่  แต่ส่งมอบรถที่มีขนาดเล็กกว่าได้  นั่นหมายถึงราคาจัดซื้อย่อมมีส่วนต่างที่ใครเป็นผู้ได้ส่วนเกินนั้นไป  ตรงนี้ต่างหากถ้ากรณีนี้ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย  จะเป็นบรรทัดฐานให้จัดซื้อแบบนี้เพื่อทำให้เกิดเงินเหลือมีส่วนต่างมากขึ้น  จึงอยากทราบว่า  การทำงานของผู้บริหารจังหวัดแพร่ ทั้งจังหวัดและท้องถิ่นเห็นเงินภาษีอากรประชาชนจะใช้อย่างไรก็ได้หรือ  จึงมีความจำเป็นนำหลักฐานและหนังสือตอบรับของผู้ปฏิบัติการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่มาส่งมอบให้  กรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดแพร่ ไปสู่การพิจารณา  ซึ่งผู้ร้องก็ถือว่าเป็นประชาชนที่ติดตามตรวจสอบการโกงกินภาษีอากรโดยภาครัฐอย่างไม่เกรงใจประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  จากกระแสดังกล่าวที่มีคำชี้แจงของนายวิเชียร  อนุสาสนนันท์  กลายเป็นกระแสบานปลายออกไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดแพร่ มีการบอกต่อว่าผลการตรวจสอบพบว่าไม่มีความผิด ถ้าจัดซื้อผิดสเป็คก็ทำการพิสูจน์ด้วยการเติมน้ำ  ให้เห็นว่า  สามารถบรรทุกมากกว่ากำหนดของขนส่งได้ แต่ไม่ต้องคำนึงถึงรุ่นและความจุที่ขนส่งจังหวัดแพร่ กำหนดในการจดทะเบียน  ในขณะที่รถยนต์ของเอกชนไม่สามารถบรรทุกได้เกินกว่าที่ขนส่งกำหนดทุกคันเพราะถือว่าการบรรทุกเกินเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายการจราจรเรื่องการควบคุมน้ำหนักบรรทุกบนถนน  ซึ่งคำตอบของทางจังหวัดยืนยันว่าไม่มีความผิด  การกำหนดของสำนักงานขนส่งจังหวัดตาม พ.ร.บ.ขนส่ง จึงไม่ใช่สาระสำคัญ

อย่างไรก็ตามนายภาคิน  ชมพูพันธ์  รองประธานธรรมาภิบาลจังหวัดแพร่  หลังรับหนังสือแล้วกล่าวว่า ทุกอย่างคงต้องมองที่การบริหารงานที่เป็นธรรมาภิบาล  ประเทศเรามีกฎหมายควบคุมก็เพื่อความปลอดภัย รักษาทรัพย์สมบัติสิ่งก่อสร้างของทางราชการและสาธารณะให้มีอายุยืนยาวใช้งานได้อย่างยั่งยืนจึงมีกฎหมายออกมาควบคุมน้ำหนักของรถแต่ละรุ่น  แต่ในกรณีดังกล่าว ธรรมาภิบาลจังหวัดแพร่ ได้รับเรื่องบรรจุเข้าวาระสู่การพิจารณามาก่อนหน้านี้แล้ว  พบว่า  มีการทำผิดขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ  ไม่เพียงน้ำหนักรถ  เช่น การได้รับหนังสือ จาก  สตง.แล้วทำไมหนังสือเงียบหายไป  เรื่องนี้ใช้เวลานานถึง 10 ปี เกิดจากอะไร  มีหนังสือผลสอบของ สตง.เข้ามาแล้วผู้บริหารทำอย่างไรกับหนังสือเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เป็นไปตามกฎหมาย  การเงียบหายไปโดยที่ สตง.ก็ไม่กลับมาทวงถามอีก การร้องเรียนถึงทางจังหวัดมานาน แต่ทำไมจึงมีการตอบหนังสือวันสุดท้ายของการทำงานของผู้รับผิดชอบ เป็นที่น่าสงสัยมากในฐานะทนายความ  และเรื่องนี้จะมีการนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมธรรมาภิบาลจังหวัดแพร่ครั้งหน้านี้  คงอยู่ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน  นายภาคินกล่าว

/ภาพ/ข่าว

ราเชนทร์  โชติถนอมกิจ

แพร่/รายงาน






ขับเคลื่อนโดย Blogger.