Header Ads

 


ชป.ติดตามความคืบหน้างานฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์


วันนี้ (17 มิ.ย. 64) ที่บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน และผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังการลงพื้นที่ว่า กรมชลประทาน มีแผนดำเนินการปรับปรุงอาคารรับน้ำ(เข้า-ออก)บึงบอระเพ็ด 2 แห่ง ได้แก่ ประตูระบายน้ำปากคลองบอระเพ็ด ที่รับน้ำจากแม่น้ำน่านเข้าสู่บึง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งโครงการภายในปี 2567  และ ประตูระบายน้ำคลองบางปอง ซึ่งอยู่ทางด้านท้ายของบึงบอระเพ็ด ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งโครงการภายในปี 2568

นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการปรับปรุงแนวคลองดักตะกอน ด้วยการขุดคลองดักตะกอน รวมระยะทางประมาณ 56 กิโลเมตร  ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการขุดลอกในส่วนที่ 1 ระยะทาง 3.4 กิโลเมตร ในส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างพิจารณาปรับเขต “ให้ หวง ห้าม” ใหม่ ซึ่งการดำเนินงานทุกขั้นตอนได้ทำการประชาพิจารณ์กับประชาชนในพื้นที่แล้ว เพื่อใช้ประโยชน์ในการกักเก็บน้ำได้มากขึ้น พร้อมรองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากได้อย่างเต็มศักยภาพ

ปัจจุบัน กรมชลประทาน ได้ดำเนินโครงการขุดลอกแก้มลิงบึงบอระเพ็ด ไปแล้ว 31% ของแผน หากแล้วเสร็จจะสามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น 2.1 ล้าน ลบ.ม. และโครงการขุดลอกบึงบอระเพ็ดแบบ Deep Pool จุดที่4 ในพื้นที่ตำบลวังมหากร อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์  โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณจากงบกลางปี 2563 มีผลการดำเนินงานกว่า 49% ของแผนงาน หากแล้วเสร็จจะสามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้นอีกกว่า 2.9 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2564 นี้ นอกจากนี้ยังได้เสนอโครงการขุดลอกแก้มลิงบึงบอระเพ็ด(เพิ่มเติม) โดยมีแผนดำเนินการในปีงบประมาณ 2565 เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากโครงการฯ อย่างเต็มศักยภาพต่อไป

ทั้งนี้ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินงานให้สอดคล้องกับแผนงานในภาพรวมอย่างรัดกุม พร้อมแนะนำให้เตรียมพร้อมข้อมูลตลอดจนแผนการดำเนินงานในอนาคต เพื่อให้เห็นภาพรวมของประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเมื่อโครงการแล้วเสร็จ และการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการสำรวจและออกแบบโครงการฯ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างสูงสุด นายประพิศฯ กล่าวในที่สุด

ภาพ/ข่าว อัมพณ จับศรทิพย์








ขับเคลื่อนโดย Blogger.