นายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์แถลงนโยบายการบริหารงานต่อสภาเทศบาล
นายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์แถลงนโยบายการบริหารงานต่อสภาเทศบาล : โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมพัฒนาศักยภาพชุมชน จัดทำโครงการรองรับสังคมผู้สูงอายุ พัฒนาระบบสาธารณูปโภค การระบายน้ำ ถนน ระบบป้องกันน้ำท่วมเพิ่มเติม ส่งเสริมปรับปรุงผังเมืองเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจการลงทุน พัฒนาระบบจัดการขยะ ระบบบำบัดน้ำเสีย พัฒนาและเพิ่มเติมแหล่งท่องเที่ยวเสริมสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่น
วันอังคารที่ 1 มิถุนายน 2564 เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมสภาเทศบาลนครนครสวรรค์ นายสมศักดิ์ อรุณสุรัตน์ ประธานสภาเทศบาลนครนครสวรรค์ เป็นประธานในการประชุมสภาเทศบาลนครนครสวรรค์ สมัยสามัญ สมัยแรก ประจำปี พ.ศ.2564 มีนางสาวสุณี มังคลารัตนศรี ปลัดเทศบาลนครนครสวรรค์ปฎิบัติหน้าที่เลขานุการ มีผู้ร่วมการประชุมประกอบด้วย คณะผู้บริหาร สมาชิกสภาเทศบาลนครนครสวรรค์ หัวหน้าส่วนการงาน และผู้แทนชุมชนโดยในการประชุม นายจิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ นายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์ได้แถลงนโยบายการบริหารงานภายหลังได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนในเขตเทศบาลฯ และการรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมีใจความสำคัญในด้านต่างๆ อาทิ
1. พัฒนาเทคโนโลยีปรับปรุงคุณภาพชีวิต
“เมืองอัจฉริยะ” Smart City ส่งเสริมคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีของคนในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ ประกอบด้วย
- Smart Environment (สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ) โครงการจัดเก็บขยะอัจฉริยะ โครงการเฝ้าระวังและเตือนภัยสภาพอากาศ โครงการตรวจวัดค่า PM 2.5
- Smart Energy (พลังงานอัจฉริยะ) โครงการพลังงานฉลาดใช้บริเวณสวนสาธารณะโครงการบริหารจัดการเพื่อการประหยัดพลังงานอาคารรัฐ
- Smart People (พลเมืองอัจฉริยะ) โครงการ Big Data ข้อมูลเพื่อพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจ พัฒนาพื้นที่ Smart Block ถนนกายภาพแห่งการเดิน จัดทำเสาไฟฟ้าอัจฉริยะ Smart Poles ข่าวสาร สื่อสารฉับไว
- Smart Living (การดำรงชีวิตอัจฉริยะ) เชื่อมระบบเครือข่ายกล้องวงจรปิด (CCTV) และระบบเครือข่ายความเร็วสูงในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ เพื่อเพิ่มความปลอดภัย ส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยว พร้อมแก้ปัญหาจราจร
2. พัฒนาคุณภาพชีวิต
- จัดตั้งโรงเรียนและศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุในเขตเทศบาลที่ปัจจุบันมีมากกว่า 16,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น มีกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตร่วมกันการดูแลผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ (Long Term Care) โดยร่วมกับหน่วยงานของทั้งภาครัฐและเอกชน จัดผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ
- สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพชุมชนให้เข้มแข็ง
- ให้การสงเคราะห์เด็ก สตรี คนชรา ผู้ด้อยโอกาส และผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึง และเป็นธรรม
3. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค
- ปรับปรุงประสิทธิภาพระบบน้ำประปา โดยเพิ่มโรงผลิตน้ำประปาเกาะยมนำน้ำจากแม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน ให้บริการในราคาถูกทั่วถึงและเพียงพอในช่วงฤดูแล้ง โดยดำเนินการของบประมาณจากภาครัฐส่วนกลาง
- ก่อสร้างและปรับปรุงระบบระบายน้ำ เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ ถนนจักรวาล (การเคหะและพื้นที่ใกล้เคียง)
- ก่อสร้างท่อระบายน้ำลอดใต้ถนน 117 เพิ่มช่องทางการระบายน้ำสถานีขนส่ง
ผู้โดยสาร(ศูนย์ท่ารถ) และระบบระบายน้ำแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง บริเวณตั้งแต่เชิงสะพานพิษณุโลกถึงชุมชนวัดไทรมาถึงสะพานป้อมหนึ่ง
- ปรับปรุงผิวจราจร ค.ส.ล. ในเขตเทศบาล เพื่อความสะดวกในการสัญจร
-สนับสนุนการปรับปรุงผังเมืองรวมในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์เพื่อขยายโอกาส
ในการพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจ
- การก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม และระบบระบายน้ำ ให้ครอบคลุมทั่วเขตเทศบาลฯ (โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมโยธาธิการและผังเมือง) ประกอบด้วยบริเวณรอบเกาะญวน โรงเรียนอนุบาลนครสวรรค์ถึงวัดเขื่อนแดง โรงงานเป๊ปซี่ถึงคลองบางปรอง ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ถึงสะพานดุสิตาภูมิ พาสานถึงสะพานดุสิตาภูมิ พาสานถึงสะพานนิมมานรดี ท่าข้าวกำนันทรงถึงศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์
4. พัฒนาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
-ปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียและขยายระบบรวบรวมน้ำเสียให้ครอบคลุมพื้นที่รับผิดชอบ
-การบริหารและจัดการขยะมูลฝอย ตามขบวนการคัดแยกเข้าสู่ระบบรีไซเคิลและพัฒนาให้เป็นพลังงานทางเลือก โดยการพัฒนาจากระบบฝังกลบ (Land Fill) ไปเป็นระบบ RDF คือการนำขยะเก่าและใหม่มาคัดแยกเป็นวัสดุเชื้อเพลิงและนำไปผลิตไฟฟ้าได้ต่อไป
- ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของ
ประชาชนในท้องถิ่น
- ปรับปรุงและเพิ่มสวนสาธารณะพื้นที่สีเขียว ให้เป็นปอดของเมืองโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
- ปรับปรุงและจัดระเบียบตลาดสดเทศบาล ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยและสะอาดตามหลักสุขาภิบาล
5. พัฒนาการท่องเที่ยว เสริมสร้างเศรษฐกิจ
- เสริมสร้างให้มีแหล่งท่องเที่ยว ที่เป็นสัญลักษณ์ของท้องถิ่น
- การก่อสร้างศูนย์วัฒนธรรมต้นแม่น้ำ และเจ้าแม่กวนอิม 3 ปาง บริเวณเกาะยม
- โครงการสะพานคนเดินข้ามแม่น้ำปิงและแม่น้ำน่าน เชื่อมตัวเมืองกับพาสาและฝั่งศาลเจ้า
- ส่งเสริมการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและนำรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่น
- พัฒนาพื้นที่รับน้ำที่ผ่านระบบบำบัดน้ำเสียของเทศบาล ปริมาณมากกว่า 36,000
ลบ.ม. ต่อวัน ให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นสถานที่ท่องเที่ยว “คลองญวนชวนรักษ์”
6. พัฒนาการศึกษาท้องถิ่นและส่งเสริมด้านการกีฬา
- ส่งเสริมการเรียนการสอน 3 ภาษา (ไทย อังกฤษ จีน) ทั้ง 9 โรงเรียน
- ส่งเสริมการเรียนสายอาชีพควบคู่กับสายวิชาการ เพื่อเพิ่มโอกาสให้แก่นักเรียนในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพ
- ส่งเสริมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน ทั้ง 12 แห่ง
- โรงเรียนกีฬาเทศบาลนครนครสวรรค์ (ท.9) พัฒนาอาคารสถานที่ภายในสนามกีฬาพัฒนารากฐานด้านกีฬาให้แก่ประเทศชาติและสร้างชื่อเสียงให้แก่ท้องถิ่น
7. พัฒนาการเมืองการบริหาร
-ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย
- ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการพัฒนาชุมชน องค์กร และท้องถิ่น
- พัฒนาระบบงานให้บริการ งานรักษาความสงบปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน ความเป็น
ระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยรวมถึงการติดตั้งกล้องวงจรปิดให้ครอบคลุมทั่วเขตเทศบาล การให้บริการระบบ WiFi โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ในที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาคัดเลือกสมาชิกสภาเทศบาลนครนครสวรรค์เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงค์ตำแหน่งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและการดำเนินการในส่วนต่างๆ อาทิ คณะกรรมการพัฒนาเทศบาลนครนครสวรรค์ คณะกรรมการติดตามติดตามและประเมินผลแผนพัฒนาเทศบาลฯ คณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลนครนครสวรรค์ คณะกรรมการกำหนดพื้นที่ผ่อนผันในที่หรือทางสาธารณะ คณะกรรมการจัดระเบียบการจำหน่ายสินค้าและคัดเลือกผู้จำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ
อีกทั้งยังได้มีการเสนอความเห็นชอบการจัดทำหลักสูตรพัฒนาผู้เรียนสู่ความเป็นเลิศของโรงเรียนกีฬาเทศบาลนครนครสวรรค์
ภาพ/ข่าว อัมพณ จับศพทิพย์