Header Ads

 


อุทัยธานี - ลูกช้างน้อยชอบใจพี่เลี้ยง ก่อนกลับคืนบ้านหาแม่ พี่เลี้ยงพาลูกช้างห้วยขาแข้ง เดินเท้า 4 กิโลเมตร จากคอกเก่า สู่คอกใหม่ "หอต้นผึ้ง" เล่นน้ำอย่างฉ่ำใจ

เช้าวันนี้  วันที่ 2 กรกฎาคม 2563 โดยมีนายพรชัย ช่วยนุกูล พี่เลี้ยงผู้ดูแลลูกช้าง พร้อมด้วยทีมคชสาร และเจ้าหน้าที่ของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้พาลูกช้างออกจากคอก เดินเท้าเคียงคู่กันมาตามเส้นทางตรวจการ  อละเดินลัดป่าในบางจุด ไปยังคอกเตรียมปล่อยคอกใหม่ "หอต้นผึ้ง" คอกใหม่รวมระยะทาง 4 กิโลเมตร ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที ถึงคอกใหม่ เวลา 10.00 น.นายสัตวแพทย์ปิยะ เสรีรักษ์  ให้เหตุผลที่เสนอให้นำลูกช้างโดยการเดินเท้ามา ว่า เพื่อให้ลูกช้างได้ออกกำลังกายและลดความเครียด เนื่องจากว่าหากนำน้องช้างขึ้นรถเคลื่อนย้าย อาจจะเกิดภาวะเครียดและส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เมื่อมาถึงจุดหอต้นผึ้ง ทางเจ้าหน้าที่ ได้ให้น้องเล่นน้ำบริเวณลำธารเล็กๆ เพื่อผ่อนคลายความเครียดและคลายความเหนื่อยล้า หลังจากนั้นได้พาน้องช้างเข้าคอกใหม่ น้องช้างไม่มีอาการตื่นกลัว หรือเครียดจากสภาพแวดล้อมใหม่ จะมีเพียงแต่เริ่มแสดงอาการหวงพื้นที่ โดยแสดงอาการ หูกาง หางชี้ตั้ง ส่งเสียงร้องเสียงดัง เวลาที่เจ้าหน้าที่ไม่คุ้นหน้าหรือไม่คุ้นเคย จะเข้ามาในคอก



ตอนบ่าย นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผอ. สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 นครสวรรค์ ได้ไปตรวจเยี่ยมลูกช้าง และตรวจสภาพคอก พบว่า ลูกช้างส่งเสียงร้องถี่มาก ยามห่างจากคน คุยกับพี่เลี้ยงช้าง  บอกคืนนี้บางช่วงที่ลูกช้างร้องมากๆ จะผูกเปลนอนใกล้ๆ คอก อยู่เป็นเพื่อน เป็นช่วงๆ ไป

ทั้งนี้ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 นครสวรรค์  กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช วางแผนว่าถ้าแม่ช้างไม่มารับ เล็งจะใช้คอกใหม่นี้ ให้แม่รับอยู่อาศัยด้วย และจะทำการดูแลลูกช้างให้รู้จักช่วยตัวเอง ให้พึ่งตัวเองให้อยู่ได้ตามธรรมชาติเองให้มากที่สุด ทั้งนี้เพื่อเตรียมพร้อมให้ลูกช้างกลับเข้าฝูงให้ได้ สำหรับสุขภาพอนามัยของลูกช้าง นายสัตวแพทย์ปิยะ เสรีรักษ์ นายสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 นครสวรรค์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ทีมสัตวแพทย์ ประกอบด้วย นายสัตวแพทย์ปิยะ เสรีรักษ์ ตำแหน่งนายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 นครสวรรค์ นายสัตวแพทย์ไพโรจน์ พรมวัฒ ตำแหน่งสัตวแพทย์ประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พร้อมด้วยนายสัตวแพทย์ ดร.สิทธิเดช มหาสาวังกุล ตำแหน่งที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสัตวแพทย์สถาบันคชบาลแห่งชาติ อ.อ.ป.ได้เข้าร่วมประเมินสุขภาพลูกช้างป่า เบื้องต้นพบว่า ลูกช้างป่าร่าเริง วิ่งเล่น แข็งแรง สะบัดหูไปมา ร้องเสียงดัง บาดแผลที่ข้อเท้าหน้าขาซ้ายหายสนิทดี ทีมสัตวแพทย์ลงความเห็นร่วมกันว่า มวลดัชนีกาย (Body score) อยู่ที่ 3 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 ซึ่งหมายความว่าลูกช้างป่า ไม่อ้วน หรือ ผอมจนอาการน่าเป็นห่วง โดยบางมุมจากการสังเกตอาจจะเห็นว่าลูกช้างซูบลงไป ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากการที่ได้รับปริมาณน้ำนมน้อยเกินไป  เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นเพราะเดิมในช่วงที่ลูกช้างอยู่ในคอกในป่า ตั้งใจจะลดนม เพราอยากให้ลูกช้างร้อง หวังจะให้แม่ช้างได้ยินเสียงลูกช้าง ทีมสัตวแพทย์ จึงได้มีข้อเสนอแนะนำว่าควรจะปรับเพิ่มช่วงเวลาการป้อนนมให้ถี่ขึ้น โดยให้ป้อนทุกๆ 3 - 4 ชั่วโมง ซึ่งหากลูกช้างสามารถได้รับปริมาณน้ำนมเต็มที่ในแต่ละวัน เป็น 18 - 20 ลิตร



ทางทีมสัตวแพทย์คาดว่าสุขภาพร่างกายของลูกช้างจะสามารถกลับมาสมบูรณ์ได้อีกครั้ง เนื่องจากอายุของลูกช้างตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 4 - 5 เดือน ทางด้าน  น.สพ. ดร. สิทธิเดช มหาสาวังกุล ตำแหน่งที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสัตวแพทย์สถาบันคชบาลแห่งชาติ อ.อ.ป ได้มีข้อเสนอแนะว่าควรจะเริ่มให้ลูกช้างหัดกินกล้วยน้ำว้าสุก และธัญพืชต่างๆ เช่น ถั่วเขียว ถั่วแดง และลูกเดือย ต้มสุกบดให้ละเอียดผสมลงในน้ำนมให้กิน ส่วนปลายข้าวต้มสามารถปรับเพิ่มให้กินได้ แต่ต้องคอยสังเกตว่าช้างขี้เป็นปกติหรือไม่ เนื่องจากต้องระมัดระวังไม่ให้ลูกช้างเกิดภาวะผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้จัดชุดเฝ้าระวังสัตว์ผู้ล่า และดูความปลอด รวมทั้งสังเกตุพฤติกรรมลูกช้าง ไว้ 2 ชุด ชุดละ 3 คน สลับกันเฝ้าดูดังกล่าว

นายสำเนา ทองศรี รายงาน 0613710441
ขับเคลื่อนโดย Blogger.