Header Ads

 


กองทัพภาคที่ 3 ห่วงใยการเฝ้าระวังเด็กเล็กป่วยโรคมือ เท้า ปาก ช่วงเปิดเทอม

วันที่ 8 กรกฎาคม 2563 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 92 ณ พิพิธภัณฑ์ทหารกองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พันเอก รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พร้อมด้วย พันเอก นายแพทย์ วิโรจน์ ชนม์สูงเนิน รองโฆษก เป็นผู้แถลงข่าวฯ มีสาระสำคัญดังนี้.-
เนื่องด้วยช่วงการเปิดเทอมของปีการศึกษานี้เป็นห้วงฤดูฝน จึงทำให้มีสภาพอากาศเย็นและชื้น อาจทำให้เด็กเล็กป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะโรคมือ เท้า ปาก ผู้ปกครองและครูควรสังเกตอาการบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เนื่องจากโรคนี้มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กทารกและเด็กเล็ก มักเกิดในสถานที่ที่มีเด็กอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน หรือโรงเรียน โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ แรกเกิด - 4 ปี (ร้อยละ 83.63) รองลงมา อายุ 5 - 6 ปี (ร้อยละ 5.24) และ อายุ 7 - 9 ปี (ร้อยละ 4.50) ซึ่งจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ น่าน เชียงราย ชุมพร ลำปาง และเชียงใหม่ ตามลำดับ

โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่พบมากในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ และสามารถติดต่อจากการได้รับเชื้อไวรัสเข้าทางปากโดยตรง โดยเชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม รดกัน หากผู้ป่วยได้รับเชื้อจะมีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ต่อมา 1-2 วัน มีอาการเจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ตุ่มแผลในปาก ที่เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น  ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชัก เกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจติดเชื้อโรคมือ เท้า ปากชนิดรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 ได้มอบหมายให้โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือ ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์เพื่อเฝ้าระวังโรค ทั้งนี้ แนะนำ 4 วิธีในการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ดังนี้.-
1. การลดการสัมผัสเชื้อ เมื่อผู้ป่วยไปจับของเล่น ของใช้จะทำให้เชื้อกระจายสู่ผู้อื่นได้  หากลดการสัมผัส จะสามารถป้องกันการรับเชื้อได้
2. หมั่นทำความสะอาดของใช้และของเล่นของเด็กเป็นประจำ เพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม
3. หมั่นให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและหลัง รับประทานอาหาร เข้าห้องน้ำ และเล่นของเล่น เพื่อลดเชื้อสะสมบนมือและลดการแพร่สู่ผู้อื่น
4. หากพบผู้ป่วย ควรให้หยุดเรียนและรักษาจนกว่าจะหาย ควรแยกของใช้ส่วนตัวเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ และไม่ควรคลุกคลีกับคนอื่นๆ ในครอบครัวหรือชุมชน เพื่อชะลอการแพร่กระจายของเชื้อโรค   
          สำหรับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนและโรงเรียน ควรมีการคัดกรองเด็กนักเรียนทุกเช้าก่อนเข้าห้องเรียน เพื่อตรวจดูนักเรียนที่มีอาการแสดงของโรค คือมีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใส หรือเม็ดแดงๆ ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือก้น หากพบเด็กป่วยให้แยกออกมา แจ้งผู้ปกครองให้มารับกลับและพักรักษาจนกว่าจะหายเป็นปกติ จัดจุดล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ ส่วนผู้ปกครอง ควรหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลาน หากพบมีอาการข้างต้นควรให้หยุดเรียนและพักรักษาจนกว่าจะหาย ถ้าหากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ขอให้ได้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหาร หรือโรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้านโดยเร็ว หรือสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422





ภาพ/ข่าว ต้อย รอบรั้วภูธร
ขับเคลื่อนโดย Blogger.