Header Ads

 


กองทัพภาคที่ 3 เตือนการเฝ้าระวังโรคไข้ฉี่หนู (โรคเลปโตสไปโรสิส)

วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 91 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พันเอก รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พร้อมด้วย พันเอก นายแพทย์ วิโรจน์ ชนม์สูงเนิน รองโฆษก เป็นผู้แถลงข่าวฯ มีสาระสำคัญดังนี้

จากข้อมูลในการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าสถานการณ์โรคไข้ฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรสิส ในประเทศไทย ปี 2563 พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยรวมทั้งสิ้น 501 ราย เสียชีวิต 6 ราย ซึ่งกลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยมากที่สุดคือ 45 – 54 ปี รองลงมาคือกลุ่มอายุ 35-44 ปี และอายุ 55-64 ปี ตามลำดับ โดยอาชีพที่พบส่วนใหญ่คือ อาชีพเกษตรกร ร้อยละ 43.7

สำหรับการติดต่อและการแพร่ระบาดของโรคไข้ฉี่หนู คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรที่สัมผัสกับเชื้อโรคมากกว่ากลุ่มอื่นๆ เนื่องจากช่วงนี้เป็นฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูกาลทำนา และโรคนี้มันพบผู้ป่วยจำนวนมากในช่วงฤดูฝนของทุกปี ประกอบกับหลายพื้นที่มีน้ำท่วมขัง ประชาชนจึงเสี่ยงที่จะรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ขณะลุยน้ำ แช่น้ำนานๆ หรือย่ำดินโคลนหลังน้ำลด
 โรคไข้ฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรสิส เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เชื้อจะถูกปล่อยออกมากับปัสสาวะของสัตว์ที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะหนู ซึ่งเชื้ออาจปนเปื้อนอยู่ตามน้ำ ดินที่เปียกชื้นหรือพืชผัก สามารถเข้าสู่ร่ายกายทางผิวหนังตามรอยแผล รอยขีดข่วน และเยื่อบุของปาก ตา และจมูก นอกจากนี้ ยังสามารถเข้าทางผิวหนังปกติที่อ่อนนุ่ม เนื่องจากแช่น้ำอยู่นานซึ่งคนมักติดเชื้อทางอ้อมขณะย่ำดินโคลน หรือแช่น้ำท่วม หรืออาจติดโรคโดยตรงจากการสัมผัสเชื้อในปัสสาวะสัตว์หรือเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อโดยการกินอาหารหรือน้ำ

แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 ได้มอบหมายให้โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือ ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์เพื่อเฝ้าระวังโรค ทั้งนี้ แนะนำในการป้องกันโรค ดังนี้.-
1. หลีกเลี่ยงการแช่หรือลุยในน้ำที่อาจปนเปื้อนเชื้อจากปัสสาวะสัตว์นำโรค หรือถ้าจำเป็น ควรสวมรองเท้าบู๊ตหรือใช้ถุงมือยาง เช่น การทำความสะอาดบ้านหลังน้ำลด การทำเกษตรกรรมหรือเลี้ยงสัตว์
2. หลังจากลงไปในแหล่งน้ำหรือย่ำดินโคลน ควรรีบทำความสะอาดร่างกาย
3. กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่และใส่ภาชนะมิดชิด ควรล้างผัก ผลไม้ ให้สะอาดก่อนนำมารับประทาน
4. ควรควบคุมกำจัดหนูในบริเวณที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงานและแหล่งท่องเที่ยว
ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ ผู้ที่มีประวัติเสี่ยงแช่น้ำ ย่ำดินโคลน หรือมีอาการบ่งชี้ของโรค ได้แก่ มีไข้เฉียบพลัน, ปวดศีรษะรุนแรง, หนาวสั่น, ตาแดง, ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะน่องและโคนขา หรือสงสัยว่าป่วยด้วยโรคไข้ฉี่หนู ขอให้ได้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหาร หรือโรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้านโดยเร็ว หรือสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422





ภาพ/ข่าว อัมพณ จับศรทิพย์
ขับเคลื่อนโดย Blogger.