Header Ads

 


ป่าแม่วงก์สมบูรณ์ "หนึ่งปีมีครั้งเดียว คนแห่เข้าป่าหาเห็ด " อุทยานฯ ระดมเจ้าหน้าที่ผลักดันออก บอกผิดกฏหมาย ยังไม่มีกฎหมายลูกรองรับ จึงยังไม่อนุญาตให้เก็บหาของป่าได้

ในขณะนี้ ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร และอุทัยธานี เป็นฤดูกาลที่เห็ดเผาะ (Astraeus hygrometricus) กำลังออกผลผลิต เป็นที่ต้องการของตลาด โดยราคาของเห็ดเผาะที่ขายกันในท้องตลาด ขณะนี้ราคา กก. ละ 250 – 350 บาท ราษฎรบางรายสามารถเก็บหาเห็ดเผาะได้มากถึง 10-15 กก. ทำรายได้ให้ตนเองมากถึง 2,500-5,250 บาท/วัน ทำให้มีกลุ่มชาวบ้านแอบเข้ามาลักลอบเก็บเห็ด ซึ่งเป็นของป่ากันมาก และมักจะเดินทางกันมาเป็นกลุ่มใหญ่ บางกลุ่มมากันมากถึงจำนวน 100 – 200 คน และส่วนใหญ่มักแอบเข้ามาตั้งแต่ตอนตี 4 ของแต่ละวัน

นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผอ. สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12(นครสวรรค์) แจ้งว่าขณะนี้ป่าอนุรักษ์ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) เช่น อุทยานแห่งชาติแม่วงก์  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นป่าเต็งรัง ป่าชนิดนี้ในช่วงต้นฤดูฝน คือ ราวเดือน พฤษคม ถึง มิถุนายน ของทุกปี เป็นฤดูกาลที่เห็ดเผาะให้ผลผลิต โดยใน 1 ปี มีการออกผลผลิตเพียง 1 ครั้ง คาดว่าปลายเดือนนี้ผลผลิตน่าจะหมดแล้ว

การที่สามารถสร้างรายได้วันละ 2,000-5,000 บาท ทำให้มีชาวบ้านแอบเข้ามาลักลอบเก็บเห็ดเผาะกันเป็นจำนวนมาก แต่การแอบเข้าเขตป่าอนุรักษ์ ทั้งอุทยานแห่งชาติ และ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อเก็บหาของป่า ในขณะนี้ยังถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฏหมาย แม้ว่า พ. ร. บ. อุทยานแห่งชาติ พ. ร. บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2562 ได้เปิดโอกาสให้อนุญาตเก็บหาของป่าได้ตามที่ไม่เกินกำลังผลิตของป่า แต่ขณะนี้กฏหมายลูกยังไม่ออก จึงยังไม่อนุญาตให้ผู้ใดเข้ามาเก็บหาของป่าในป่าอนุรักษ์ได้

ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้ว่ากล่าวตักเตือน แล้วผลักดันออกไป บางรายที่ดื้อ และผิดซ้ำ เจ้าหน้าที่ก็ได้เปรียบเทียบปรับไปรายละ 500 บาท เรื่องนี้สร้างความหนักใจให้กับเจ้าหน้าที่มาก และเจ้าหน้าที่บางท่าน ถูกชาวบ้านต่อว่าอย่างเสียหาย

สิ่งที่ตามมาจากการแอบเข้ามาเก็บเห็ด คือ ทิ้งขยะไว้เกลื่อนป่า ส่วนใหญ่เป็นขวดน้ำ และ ถุงพลาสติก ซึ่งล้วนแต่เป็นอันตรายต่อสัตว์ป่า รวมทั้งส่งเสียงรบกวนสัตว์ป่า และ เพิ่มภาระให้เจ้าหน้าที่ที่ต้องระดมกำลังกันเก็บขยะ บ้างก็ไปลงเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ไปต่างๆ นานา บ้างก็กล่าวว่า ขยะล้น ทั้งที่เจ้าหน้าที่ได้ระดมกันเก็บมากองไว้ ก่อนที่จะนำออกนอกพื้นที่หรือฝังทำลาย


นายกิติพัฒน์ ธาราภิบาล
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ในรอบเดือนที่ผ่านมา อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ได้จัดชุดลาดตระเวนและคอยผลักดันราษฎรที่แอบเข้ามาแอบเก็บเห็ดเผาะนี้ ออกมา อย่างต่อเนื่อง โดยหากจับตัวได้ ได้ทำการเปรียบเทียบปรับมาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ยอดเงินค่าปรับที่ปรับเข้ารัฐแล้วเป็นเงินกว่า 14,000 บาท

โดยหนึ่งในนี้ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 มี 2 สามี ภรรยา แอบเข้าไปหาเห็ดแล้วเกิดหลงป่า เจ้าหน้าที่ช่วยกันตามหาตัวจนพบ และช่วยชีวิตไว้ได้ หลังจากให้น้ำและอาหารแล้ว ได้ทำการเปรียบเทียบปรับคนละ 500 บาท แล้วปล่อยตัวไป การเปรียบเทียบปรับดังกล่าว ส่วนหนึ่งได้สร้างความไม่พอใจกับกลับกลุ่มราษฎรบางกลุ่มที่มองว่าเจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายบังคับเข้มข้นเกินไป 


ที่ผ่านมา อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ได้ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง แต่ปรากฏว่าส่วนหนึ่งมีราษฎรจากต่างจังหวัด เข้ามาในพื้นที่ด้วย จากนี้ไป อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จะใช้มาตรการเข้มข้นขึ้น แต่ก็จะเน้นมาตรการป้องปราม ตามที่ ผอ. สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) สั่งการไว้ โดยจะจัดชุดตรึงแนวเขตที่ล่อแหลม ไม่ให้ราษฎรเข้า เว้นแต่หากมีผู้ดื้อดึง ไม่ฟัง หากตรวจพบจะดำเนินคดีตามกฏหมายต่อไป

การเก็บเห็ดเผาะในปีนี้ ที่มีราษฎรแอบเข้ามาหากันมากกว่าทุกปี ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะราษฎรเจ้าใจคลาดเคลื่อนว่าพ. ร. บ. อุทยานแห่งชาติ พ. ร. บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2562 ซึ่งเป็น พ. ร. บ. ใหม่ สามารถเข้าไปเก็บหาของป่าได้ แต่ข้อเท็จจริงกฏหมายลูกยังไม่ออก ยังไม่สามารถอนุญาตให้เก็บหาของป่าได้ ตามที่ ผอ. สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) กล่าวข้างต้น


นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผอ. สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12(นครสวรรค์) เปิดเผยต่อว่า เพื่อเป็นการยับยั้งไม่ให้เกิดการกระทำในลักษณะนี้   สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12  กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้สั่งการให้หัวหน้าหน่วยงานผู้รับผิดชอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทุกแห่ง เพิ่มเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน   และสั่งการให้ออกลาดตระเวนเข้มข้นในพื้นที่รับผิดชอบ อย่าให้มีผู้แอบลักลอบเข้ามาเก็บหาของป่าอย่างเด็ดขาด หากพบว่าหน่วยงานใดมีการปล่อยปละละเลย จะถือว่าบกพร่องต่อหน้าที่ รวมทั้งให้สายตรวจปราบปรามสายที่ 1 และฐานปฏิบัติการป้องกันรักษาป่า ให้การ สนับสนุนการป้องกันเก็บหาของป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์อย่างเข้มข้นอีกแรงหนึ่ง แต่ทั้งนี้ในการดำเนินการตามมาตรการยับยั้งดังกล่าว ขอให้เน้นเรื่องการป้องปราม และประชาสัมพันธ์เป็นลำดับแรก












นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผอ. สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12
ภาพ/ข่าว อัมพณ จับศรทิพย์
ขับเคลื่อนโดย Blogger.