Header Ads

 


ราชบุรี - 2 สาวพี่สอง ปิ๊งไอเดียประดิษฐ์ขวดยาหม่องเป็นตุ๊กตาไทย

2 สาวพี่น้อง ชาว จ.ราชบุรี ปิ๊งไอเดียต่อยอดสินค้า จากขวดยาหม่องธรรมดา ประดิษฐ์เป็นตุ๊กตาตัวละครในวรรณคดีไทย ลูกค้าเห็นแล้วปิ๊งสะดุดตา สั่งซื้อเป็นของฝากของที่ระลึกเป็นจำนวนมาก

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านเลขที่ 172 หมู่ 2 ต.อ่างหิน อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี น.ส.พรรณทิพา ขจิตรสุวรรณ อายุ 47 ปี และ น.ส.ชุตินันท์ ไพรวัลย์ อายุ 31 ปี 2 สาวพี่น้อง ปิ๊งไอเดียนำขวดยาหม่องมาประดิษฐ์เป็นตุ๊กตาในวรรณคดีไทย เพิ่มความสวยงาม เพิ่มคุณค่า เป็นการต่อยอดสินค้า เพิ่มการขาย จากขวดยาหม่องธรรมดาที่ดูไม่มีสีสัน กลับกลายเป็นขวดยาหม่องแบบใหม่ที่ดูแปลกตามีสีสัน ส่วนงานทุกชิ้นถูกสร้างสรรค์ด้วยดินไทยมาผสมสีน้ำมัน ปั้นตกแต่งรอบขวดยาหม่อง จนกลายเป็นตุ๊กตาตัวละครในวรรณคดีไทย สามารถเปิดปิดฝาได้เหมือนขวดทั่วไป เปิดตัวขายครั้งแรกผ่านทางเฟสบุ๊ก ลูกค้าสนใจเพราะความสวยงามสะดุดตา จนมียอดสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก เพื่อนำไปใส่ตู้โชว์ เป็นของฝากของผู้หลักผู้ใหญ่ และเป็นของที่ระลึกสำหรับชาวต่างชาติ

    น.ส.พรรณทิพา ขจิตรสุวรรณ (พี่สาว) เปิดเผยว่า ได้ไอเดียความคิดมาจากน้องสาวที่มีความรู้เรื่องดิน ช่วงแรกทำเป็นตุ๊กตา ต่อมามีลูกค้ามีมาสั่งออเดอร์ให้ทำออกแบบงานบนขวดยาหม่อง อยากได้แบบสวย ๆดูดี และเป็นลายไทย จึงมานั่งคิดค้นแบบและคิดว่า เวลาชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวเมืองไทย จึงชอบซื้อตุ๊กตาไทยกลับไปเป็นจำนวนมาก  เช่น ลวดลายยักษ์วัดโพธิ์ ยักษ์วัดแจ้ง ตุ๊กตาตัวละครในวรรณคดีไทย เช่น เจ้าเงาะ นางรจนา ซึ่งแบบเหล่านี้จะไม่เป็นลิขสิทธิ์ เพราะมีมาแต่โบราณ จึงลองทำและทดลองส่งให้ลูกค้าให้ดูก่อน ซึ่งลูกค้าชอบใจ จากวันนั้นมาจึงเริ่มหันมาทำงานขวดยาหม่องตุ๊กตาลายไทยกับน้องสาวสองคน 

    ด้าน น.ส.ชุตินันท์ ไพรวัลย์ (น้องสาว) กล่าวว่า ตนจบการศึกษาระดับ ปวส. วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี สาขาการบัญชี ด้วยเป็นครูพักลักษณ์จำในการปั้นรูปจึงได้นำดินไทยสีขาวนวลมาผสมกับสีน้ำมันตามสีที่ต้องการ จากนั้นเริ่มปั้นรูปทรง ด้วยการนำดินไทยมานวดแล้วรีดให้เป็นแผ่น สำหรับประกอบเป็นตุ๊กตาตัวละครวรรณคดีไทย รอบขวดยาหม่อง โดยส่วนหัวจะเป็นผายาหม่อง จะนำดินสีเนื้อ สีดำไว้ทำทรงผม และตกแต่งสวมใส่ชฎา ทิ้งรอให้แห้งสักพัก ถึงจะมาเริ่มปั้นช่วงตัวที่เป็นขวดยาหม่อง ตกแต่งให้เป็นตัวตุ๊กตาจนครบทุกชิ้นส่วน คนที่เคยใช้ยาหม่องจนหมดขวดส่วนใหญ่จะโยนขวดทิ้ง แต่ขวดยาหม่องที่ทำเป็นตุ๊กตาตัวละครวรรณคดีไทย ยังสามารถเอาไปประดับตกแต่งบ้าน หรือเป็นของที่ระลึก ของชำร่วยได้อีก

    น.ส.ชุตินันท์ กล่าวต่อว่า ส่วนแหล่งขายก่อนช่วงโควิด ได้ลงขายผ่านทางเฟสบุ๊ก ในกลุ่มงานประดิษฐ์ โดยมีเพื่อนหลายคนช่วยกันแชร์ออกไป ทำให้มีลูกค้าสั่งเข้ามาเป็นจำนวนมาก และยังได้ส่งไปขายที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนที่ชื่นชอบของหอม เช่น ยาหม่อง กำยาน จะชอบงานฝีมือไทย บางคนยังชอบซื้อเอาไปตั้งโชว์ในตู้และที่ทำงาน  โดยก่อนหน้านี้มีออเดอร์เข้ามาเยอะทำไม่ทันจึงได้จ้างเด็กๆ ในหมู่บ้านมาระบายลงสี โดยให้ราคาตัวละ 5 บาท เมื่อทําเสร็จสมบูรณ์ จะส่งขายตัวละ 45 บาท แต่ถ้าลงสีทองจะขายราคาตัวละ 65 บาท ส่วนยาหม่องได้ไปรับซื้อมาจากชมรมผู้สูงอายุ ต.ท่าราบ อ.เมืองราชบุรี โดยจะเอาขวดไปให้ใส่ราคาขวดละ 7 บาท ถือเป็นการอุดหนุนช่วยเหลือผู้สูงอายุให้มีรายได้อีกทางหนึ่งด้วย ส่วนใครถนัดการลงสีตุ๊กตา สามารถมารับงานไปทำเสริมได้ สำหรับผู้สนใจหรือหน่วยงานต่างๆ อยากเรียนรู้วิธีการทำ สามารถมาเรียนได้ ตนกับพี่สาวยินดีที่จะสอนให้ โดยติดต่อสอบถามมาได้ที่เบอร์ 064-196-8146 หรือเบอร์ 096-902-6301 และทางเฟสบุ๊ก"ฟ้าใสงานปั้น"







ภาพ/ข่าว สุจินต์ นฤภัย(เต้) จ.ราชบุรี

ขับเคลื่อนโดย Blogger.